เปิดผลวิจัยดัน “ภาคเหนือ” สู่เมืองพำนักระยะยาว เชียงใหม่ฮอตแห่ลองสเตย์กว่า 4 หมื่นราย

เปิดผลวิจัยธุรกิจพำนักระยะยาว (Long Stay) ภาคเหนือ และการดำเนินโครงการอบรมผู้ประกอบการล้านนาลองสเตย์ภาคเหนือตอนบน พบยังมีโอกาสเติบโตสูง ดึงกลุ่มผู้เกษียณ-ผู้สูงอายุจากญี่ปุ่น เยอรมัน ยุโรป และอเมริกัน เชียงใหม่ยังฮ็อตแห่ลองสเตย์กว่า 4 หมื่นราย ชี้ยังมีปัญหาอุปสรรคด้านกฎระเบียบ

ดร.กรวรรณ สังขกร หัวหน้าโครงการฯ และนักวิจัย (ชำนาญการพิเศษ) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลสรุปจากการดำเนินโครงการอบรมผู้ประกอบการล้านนาลองสเตย์ ปีงบประมาณ 2561 ที่สถาบันได้ร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ มีกิจกรรมที่สำคัญ 2 ส่วน คือ การวิเคราะห์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1,000 ราย และการอบรมผู้ประกอบการ 3 รุ่น รวม 200 ผู้ประกอบการ ได้แก่ 1.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์-สถานที่พัก 2.กลุ่มด้านสุขภาพ-Wellness-สถานพยาบาล และ 3.กลุ่มด้านการท่องเที่ยว-โครงสร้างพื้นฐาน-กฎระเบียบ รวมถึงการศึกษาดูงานที่จังหวัดภูเก็ต

โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวมีผลสรุปที่สำคัญดังนี้ คือ จากการวิเคราะห์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1,000 ราย ซึ่งจะแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มาอยู่ระยะยาว (Long Stay) ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี ชาติยุโรปอื่นๆ และอเมริกัน และอีกส่วนคือ นักท่องเที่ยวทั่วไป พบว่าภาคเหนือตอนบนมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้นทุกปีๆ และเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยแบบลองสเตย์มากขึ้น โดยกลุ่มผู้สูงอายุจะให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพที่ดี ความปลอดภัย มีกิจกรรมที่เหมาะสมต่อการรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เข้ามามากขึ้น เป็นผลมาจากเรื่องของค่าครองชีพ ขณะที่อเมริกันและยุโรป ให้ความสำคัญเรื่องสถานบริการเกี่ยวกับสุขภาพและค่าครองชีพ รวมถึงการเข้ามาของกลุ่มที่ติดตามบุตรหลานมาศึกษาในโรงเรียนนานาชาติในเชียงใหม่ ทั้งนี้จากข้อมูลของตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า ปี 2561 เชียงใหม่มีสถิติการยื่นขออยู่ต่อของชาวต่างชาติ 42,422 ราย

ดร.กรวรรณกล่าวต่อว่า ผลจากการอบรมทั้ง 3 ครั้ง ได้หยิบยกประเด็นปัญหาในเรื่องของการขับเคลื่อน Lanna Long Stay ในภาคเหนือ 3 ประเด็นหลักๆ พบว่าผู้ประกอบการยังมองว่าฐานลูกค้ากลุ่มลองสเตย์ยังน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับมาเลเซียที่ผลักดันในเรื่องนี้ ที่ให้สิทธิประโยชน์สูงกว่าไทย อีกประเด็นคือ กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่มักจะติดในข้อกฎหมายต่างๆ เช่น ขออนุญาตทำสถานประกอบการ การประสานงานกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น และประเด็นสุดท้ายคือ การประชาสัมพันธ์ยังค่อนข้างน้อย

ทั้งนี้ จากการเก็บแบบสอบถามนักท่องเที่ยวลองสเตย์ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั่วไป มีกว่า 80% บอกไม่ทราบว่าภาคเหนือตอนบนมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวลองสเตย์ นอกจากนั้นในพื้นที่ยังขาดการประสานงาน ถึงแม้จะมีการรวมกลุ่มกัน แต่ก็ยังขาดศูนย์กลางการประสานงานที่แท้จริง ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงนักท่องเที่ยวอย่างชัดเจน รวมถึงนโยบายของภาครัฐยังไม่ชัดเจน และสุดท้ายคือ ปัญหาเรื่องบุคลากรและภาษา

ส่วนจุดเด่นจะพบว่า เรื่องที่พักและสภาพแวดล้อมมีความหลากหลายเหมาะสม รวมถึงผู้คนเป็นมิตรและผู้ประกอบการต่างๆ มีความพร้อมในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว ค่าครองชีพที่ไม่สูงเกินไป อีกทั้งสถานบริการเกี่ยวกับการบริการสุขภาพค่อนข้างมีมาตรฐานและน่าเชื่อถือ และสุดท้ายคือ เรื่องการคมนาคมที่สะดวกสบาย

Advertisment

ด้านนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากนี้หอการค้าจะรวบรวมประเด็นแต่ละด้านในเชิงลึก แนวทางการแก้ไขปัญหาของการส่งเสริมการพำนักระยะยาว เพื่อผลักดันตามช่องทางในส่วนภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยเฉพาะการนำเสนอผ่านคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามการส่งเสริมภาพลักษณ์ และการคุ้มครองผลประโยชน์ไทยในต่างประเทศ ในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเรื่องการส่งเสริมการพำนักระยะยาวมีความแตกต่างจากธุรกิจท่องเที่ยวด้านอื่น เพราะต้องมีองค์ประกอบครบ ทั้งการพักอาศัย การให้บริการเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล รวมถึงองค์ประกอบด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบด้วยเรื่องโลจิสติกส์ การขนส่งมวลชน ที่หอการค้ากำลังผลักดัน และเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผู้พำนักระยะยาวชาวต่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยว และการพำนักระยะยาว ที่สามารถรองรับกลุ่มผู้พำนักระยะยาวได้ แต่ต้องมีการปรับตัวในทุกด้าน ทั้งผู้ประกอบการ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จึงมองว่าการดำเนินโครงการลองสเตย์อย่างต่อเนื่อง และการผลักดันมาตรการที่ส่งเสริมด้านการพำนักระยะยาว จะช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถเข้าใจตลาดการท่องเที่ยวแบบลองสเตย์มากยิ่งขึ้น และจะสามารถพัฒนาเป็นคลัสเตอร์ และโมเดลของ Long Stay ภาคเหนือขึ้นมาอย่างรูปธรรมต่อไป ซึ่งผู้ผ่านการอบรมครั้งนี้จะได้มีการมอบประกาศนียบัตร ภายในงานหอการค้าแฟร์ (TCC Fair 2018) ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ด้วย