อีสานล่าง 1 ขอ 131 ล้าน ดันโครงการอุตสาหกรรมโคเนื้อ ชง ครม.สัญจร

หอการค้าอีสานล่าง 1 ดัน “โครงการอุตสาหกรรมโคเนื้อครบวงจร” ของบฯอุดหนุนกว่า 131 ล้าน ก่อนเสนอเข้า ครม.สัญจรวันนี้

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 นายสมบัติ สมบูรณ์เทอมธนา กรรมการหอการค้าไทย และอดีตประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หอการค้าจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มนครชัยบุรินทร์ เสนอโครงการส่งเสริมและสร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมโคเนื้อครบวงจร ในพื้นที่นครชัยบุรินทร์ และอีสานใต้ (นครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์) ต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี วงเงินรวม 131,600,000 บาท

เพื่อผลักดันและช่วยเหลือเกษตรกลุ่มเลี้ยงโคในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ ประกอบกับปัจจุบันในพื้นที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคมากที่สุดในไทย แต่ยังขาดโรงตัดแต่งที่มีมาตรฐานที่สามารถตัดแต่งเนื้อโคเข้าห้างสรรพสินค้าได้

ซึ่งในประเทศไทยตอนนี้มีโรงฆ่าสัตว์ (โค-กระบือ) ที่ได้มาตรฐาน GMP HALAL และ EST No. อยู่ที่ 6 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ราชบุรี ชุมพร พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม เท่านั้น จำเป็นต้องส่งไปเชือดที่จังหวัดดังกล่าว ทำให้มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่สูง

สำหรับการขอรับการสนับสนุนงบฯ แบ่งเป็น

Advertisment
  • สร้างห้องตัดแต่งเนื้อโค มาตรฐาน GMP/Halal/HACCP และอบรมอาชีพผู้ตัดแต่งเนื้อ (Butcher) ในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ขอรับการสนับสนุนงบฯจำนวน 50,000,000 บาท
  • ฟาร์มโคขุนต้นแบบระดับอำเภอ จ.บุรีรัมย์ ขอรับการสนับสนุนงบฯวงเงิน 20,000,000 บาท
  • สร้างห้องบ่มและห้องตัดแต่งมาตรฐาน GMP เพื่อเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูงในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ขอรับการสนับสนุนงบฯ 51,600,000 บาท
  • บริหารจัดการโดยองค์การบริหารส่วนตำบลสลักได จ.สุรินทร์ และฟาร์มโคขุนต้นแบบระดับอำเภอ จ.ชัยภูมิ วงเงิน 10,000,000 บาท

ทั้งนี้ ปี 2567 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการผลิตโคเนื้อ เนื้อ 5,524,700 ตัว (56%) มีเกษตรกร 988,302 คน (69%) โดยกลุ่มนครชัยบุรินทร์เลี้ยงโคเนื้อรวม 1.9 ล้านตัว ตัวละ 20,000 บาท รวมมูลค่า 38,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี จะพัฒนาเพิ่มมูลค่าได้ 1 เท่า เป็นเงิน 76,000 ล้านบาท

“ปัจจุบันไทยยังนำเข้าโคเนื้อคุณภาพจากประเทศออสเตรเลียและญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก หากสามารถเลี้ยงโคขุนที่มีคุณภาพได้ก็จะมีโคเนื้อที่บริโภคภายในประเทศ ลดการนำเข้า ซึ่งคาดว่า 3-5 ปี ประเทศไทยก็อาจจะสามารถผลิตโคเนื้อที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งคาดว่าตะวันออกกลางก็ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดชั้นดีและมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก” นายสมบัติกล่าว