ร้อนแล้งทำไม้ผลใต้ 4 ชนิดวูบ “ทุเรียน-มังคุด-เงาะ-ลองกอง” ติดลบ 12%

Hot Durian

เปิดตัวเลขประมาณการไม้ผลภาคใต้ 4 ชนิด “ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง” ปี 2567 ติดลบ ผลผลิตวูบไป 12.35% โดยเฉพาะทุเรียนเบื้องต้นลดไปเหลือแค่ 5 แสนกว่าตัน สาเหตุจากร้อนแล้งลากยาวทำผลผลิตวูบติดลบ 8.83%

นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้มีการประชุมคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้

ครั้งที่ 2/2567 เพื่อประมาณการไม้ผล 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ในพื้นที่ 14 จังหวัด (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) คาดว่า มีผลผลิตรวม 743,322 ตัน ลดลงปี 2566 ที่มีจำนวน 848,094 ตัน หรือลดลง -12.35%

ทั้งนี้ ภาพรวมปี 2567 มีเนื้อที่ยืนต้นผลไม้ 4 ชนิด มีจำนวน 1,213,847 ไร่ เทียบปี 2566 มีเนื้อที่ยืนต้น 1,139,056 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 6.57% โดยทุเรียนเพิ่มขึ้น 12.12% มังคุด ลดลง -1.10%, เงาะ ลดลง -3.79%, ลองกอง ลดลง -7.39% ด้านเนื้อที่ให้ผลมีจำนวนรวม 970,031 ไร่ เทียบปี 2566 มีเนื้อที่ให้ผล 948,949 ไร่ เพิ่มขึ้น 2.22% โดยทุเรียนเพิ่มขึ้น 5.71%, มังคุด ลดลง -0.24%, เงาะลดลง -2.66%, ลองกอง ลดลง -7.20%

ทุเรียนภาคใต้มีเนื้อที่ยืนต้นประมาณ 814,414 ไร่ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ประมาณ 12.12% เนื้อที่ให้ผลประมาณ 578,464 ไร่ เพิ่มขึ้นประมาณ 5.71% ซึ่งประมาณการผลผลิตปี 2567 ประมาณ 558,353 ตัน ลดลงจากปี 2566 ประมาณ -8.83% ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลเฉลี่ย 965 กก./ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา -13.76% ปัจจัยเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย อากาศร้อน แล้งฝนทิ้งช่วงยาวนาน เกิดน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลให้ดอกผลร่วง ผลผลิตรูปทรงผลไม่สวย

Advertisment

ทั้งนี้ ผลผลิตทุเรียนในปี 2567 จำนวน 558,353 ตัน จะเป็นทุเรียนในฤดูกาลภาคใต้ ซึ่งเก็บเกี่ยวช่วงระยะเดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2567 โดยประมาณ 82% หรือประมาณ 455,082 ตัน ส่วนที่เหลืออีก 18% ประมาณ 103,271 ตัน จะเป็นทุเรียนนอกฤดู ซึ่งจะเก็บเกี่ยวช่วงระยะเดือนมกราคม-พฤษภาคม และ พ.ย.-ธ.ค. 2567 ซึ่งปัจจุบันเก็บเกี่ยวทุเรียนในฤดูกาลแล้วร้อยละ 13.58% หรือประมาณ 61,806.08 ตัน

นางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 (สวพ.7) กรมวิชาการเกษตร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง สวพ.7 มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งปีนี้เริ่มต้นฤดูทุเรียนตู้แรกของภาคใต้ที่ส่งออกตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบคุณภาพ เพื่อดูเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของทุเรียนในโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่มาเปิดรับซื้อทุเรียนใน 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช นับถึงวันที่ 15 มิถุนายน

กราฟฟิก ไม้ผล 4 ชนิด

ซึ่งประกาศเป็นวันเก็บทุเรียนหมอนทองปี 2567 มีล้งเข้ามาเปิดรับซื้อในพื้นที่ 253 ล้ง จากที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด 510 ล้ง ผลการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งสูงเกินกว่ามาตรฐาน 95% ของตัวอย่างที่ตรวจ มีเพียงเล็กน้อยที่พบผลผลิตด้อยคุณภาพ พบล้งที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งไม่ได้มาตรฐาน แบ่งเป็นล้งสีแดง 27 ล้ง ล้งสีเหลือง 46 ล้ง และล้งสีเขียว คือ ล้งที่เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งได้มาตรฐานมี 180 ล้ง

Advertisment

วิธีการตรวจสอบน้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียน เพื่อวัดคุณภาพอ่อน-แก่ แต่ละพันธุ์ต่างกัน หมอนทอง ต้องมีค่าของน้ำหนักแห้งมากกว่าหรือเท่ากับ 32% โดยจะแบ่งเกรดของล้งเป็น 3 สี คือ เขียว เหลือง แดง โดยล้งที่มีค่าน้ำหนักแห้งไม่ได้ตามมาตรฐาน ส่วนใหญ่ตรวจพบทุเรียนอ่อน จะถูกจัดเป็นล้งสีแดง ต้องถูกตรวจสอบทุกตู้ 100% ที่ส่งออก ต่อเนื่องจนกว่าจะไม่พบทุเรียนด้อยคุณภาพ จะค่อยถูกปลดมาเป็น ล้งสีเหลือง

ซึ่งจะใช้วิธีการสุ่มตรวจ หากตรวจสอบน้ำหนักแห้งได้มาตรฐาน 2-3 ครั้ง จะถูกจัดกลับมาสู่สถานะปกติ เป็นล้งสีเขียว โดยล้งสีเขียว ไม่ต้องถูกตรวจมาตรการค่าน้ำหนักแห้ง แต่จะถูกตรวจสอบเรื่องศัตรูพืช โดยด่านตรวจพืช ทั้งนี้ ล้งที่ถูกจัดเกรดเป็นสีแดง สีเหลือง สามารถส่งออกทุเรียนได้ตามปกติ เพียงแต่ถูกตรวจสอบตามมาตรฐาน เพื่อไม่ให้ทุเรียนด้อยคุณภาพส่งออกไป