วิกฤต “มะพร้าว” กระทบปีหน้า “ประจวบฯ-สุราษฎร์ฯ-ราชบุรี-ชุมพร” วูบ

dried coconut
อัพเดตล่าสุด 24 มิ.ย. 2567 เวลา 06.58 น.

“มะพร้าว” หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทย ปี 2566 สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง รายงานเฉพาะการส่งออก “มะพร้าวน้ำหอม” ไปตลาดจีน มีมูลค่า 438,215,497 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีมูลค่าการส่งออกไปตลาดจีน 416,455,715 เหรียญสหรัฐ

แต่ในช่วงมกราคม-พฤษภาคม 2567 เป็นช่วงที่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวประสบปัญหาสภาพอากาศร้อน แล้งลากยาว ทำให้ผลผลิตมะพร้าวลดลงต่อเนื่องในระยะยาว ผู้ประกอบการชะลอการส่งออก โดยเฉพาะใน 4 จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมาก เช่น ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ราชบุรี ชุมพร ที่ปลูกมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงถึง 40%

ประจวบฯร้อน ผลผลิตลด 20%

นางศันสนีย์ เกษตรสินสมบัติ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวผลแก่ ณ เดือนเมษายน 2567 ทั้งหมด 361,242.50 ไร่ พื้นที่ให้ผลแล้ว 341,607 ไร่ ส่วนพื้นที่ปลูกมะพร้าวอ่อน 117,280 ไร่ ซึ่งปลูกในพื้นที่อำเภอทับสะแก มากที่สุด 136,771 ไร่

สำหรับภาพรวมสถานการณ์มะพร้าวในปีนี้ ถือว่าอยู่ใน “ขั้นวิกฤต” เป็นอย่างมาก ผลผลิตลดลงไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากปัญหาร้อนแล้งที่กระทบผลผลิต 2 ปีต่อเนื่อง โดยมีพื้นที่ปลูกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาร้อนแล้งแล้วจำนวน 1,564 ไร่

มะพร้าวส่วนใหญ่ไม่ออกผลและยืนต้นตายโดยสิ้นเชิง ทำให้เกษตรกรต้องเสียเวลาการดูแลไปถึง 5 ปี ประกอบกับได้รับผลกระทบจากโรคระบาดศัตรูพืชจากแมลงดําหนามมะพร้าว และหนอนหัวดำ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 มูลค่าทางเศรษฐกิจจะลดลงมากกว่า 25%

Advertisment

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พยายามแนะนำให้เกษตรกรหาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อนำมาใช้ภายในสวน ซึ่งเกษตรกรมักจะไม่มีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ พึ่งพาสภาพอากาศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแหล่งน้ำในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ น้ำส่วนใหญ่มาจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางปราณบุรี และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 9 แห่ง

dried coconut

ทั้งนี้ มะพร้าวแก่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีผลผลิตร้อยละ 57 สำหรับใช้บริโภคผลสด และร้อยละ 36 ส่งเข้าโรงงานผลิตกะทิสดและมะพร้าวกะทิส่งตลาดกรุงเทพฯ และตลาดอื่น ๆ ทั้งภายในจังหวัด และนอกจังหวัด ส่วนที่เหลือร้อยละ 7 ใช้ผลิตน้ำมันมะพร้าวบริโภคภายในประเทศ ทำให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของมะพร้าวเฉลี่ยปีละ 4,000 ล้านบาท โดยในปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 3,577 ล้านบาท

สำหรับปี 2566 มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 359,812 ไร่ พื้นที่ให้ผล 339,633 ไร่ ปริมาณผลผลิต 419,582.15 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.68 ผลผลิตเฉลี่ย 1,235.40 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนและแล้ง ส่งผลต่อการติดดอกออกผลของมะพร้าว ประกอบกับมีการระบาดแมลงศัตรูมะพร้าว ทำให้ผลผลิตที่ได้มีขนาดเล็กลงและปริมาณลดลง

Advertisment

สุราษฎร์ฯปี’68 ผลผลิตลด 40%

นางใจทิพย์ ด่านปรีดานันท์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีพื้นที่การปลูกมะพร้าวผลแก่ทั้งหมดประมาณ 80,000 ไร่ โดยมีพื้นที่ปลูกสำคัญใน อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.เกาะสมุย และ อ.เกาะพะงัน ส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวยืนต้นที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ซึ่งมีระบบรากที่กว้าง แข็งแรง สามารถทนสภาพแห้งแล้งได้ ทำให้ไม่ส่งผลต่อสภาพต้น

แต่กระทบจำนวนผลผลิตแทนในช่วงนี้ สภาพอากาศที่ร้อนแล้ง สำหรับในช่วงดอกบาน (เดือนมีนาคม-เมษายน) มะพร้าวไม่ติดดอก ซึ่งกระทบกับผลผลิตในช่วงปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568 ทำให้คาดว่าผลผลิตในปี 2568 จะลดลง 30-40% เมื่อเทียบกับปีนี้ ส่วนราคามะพร้าวหน้าสวนในช่วงที่ประสบปัญหาภัยแล้งจะอยู่ที่ประมาณ 12 บาทต่อลูก ส่วนในช่วงปกติจะอยู่ที่ 8-10 บาทต่อลูก

สำหรับปี 2567 คาดว่าผลผลิตลดลงประมาณ 100,000 ผล คิดเป็น 30% เมื่อเทียบกับผลผลิตในปี 2566 ประมาณ 52,000,000 ผล ซึ่งมะพร้าวส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ชายทะเล สภาพเป็นดินทราย และจะมีพื้นที่ปลูกที่อยู่บริเวณปากคลอง มีน้ำขึ้น-น้ำลง ทะเลหนุน ประกอบกับ อ.เมือง ได้รับน้ำจากคลองที่เชื่อมต่อจากแม่น้ำตาปี ทำให้ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ มีน้ำใช้สม่ำเสมอ

dried coconut

ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจของผลผลิตมะพร้าวลดลงเหลือ 300-400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ยประมาณ 500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่่ผ่านมา เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมันแทนมะพร้าว เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถปลูกร่วมกันหรือปลูกทดแทนกันได้

“คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ดูแลเรื่องปริมาณมะพร้าวภายในประเทศ ซึ่งหากเกิดกรณีผลผลิตมะพร้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ อาจจะมีการอนุญาตให้นำเข้าจากต่างประเทศได้” นางใจทิพย์กล่าว

ราชบุรีร้อนทำรายได้หดพันล้าน

นายสุพัฒน์ อ่อนคง เกษตรจังหวัดราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีการปลูกมะพร้าวน้ำหอมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย มีพื้นที่การปลูกทั้งหมดประมาณ 110,000 ไร่ โดยปลูกมากที่สุดใน อ.ดำเนินสะดวก ประมาณ 40,000 ไร่ ซึ่งตอนนี้ผลผลิตลดน้อยลงกว่าปีก่อน ๆ เนื่องจากประสบปัญหาสภาพอากาศร้อน อุณหภูมิสูงถึง 40 องศา

โดยมีผลผลิตเพียง 4-5 ลูกต่อทะลาย ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปกติออกผลผลิต 8-10 ลูกต่อทะลาย สำหรับปี 2567 คาดการณ์ว่าถ้ามะพร้าวยังได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน เหลือเพียง 4-5 ลูกต่อทะลาย จะส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของมะพร้าวในจังหวัดราชบุรี ปี 2567 ลดลงประมาณ 10-20% เหลือ 4,000-5,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท

dried coconut

ด้านนายเวโรจน์ วงศ์ประดู่ เลขาธิการสมาคมมะพร้าวน้ำหอมไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสภาพอากาศร้อนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สวนมะพร้าวในพื้นที่ จ.ราชบุรี ตอนนี้ประสบปัญหาผลผลิตมะพร้าวชุดใหม่เป็นรูปทรงทุยยาว คล้ายมะละกอ ผลผลิตเสียหายไม่สามารถรับประทานได้ ซึ่งรูปทรงดังกล่าวไม่ค่อยพบบ่อยมาก จึงคาดการณ์ว่าเกิดจากสภาพอากาศร้อน

ชุมพรปี’68 ผลผลิตลด 10%

นายสุบรรณ รักษ์ทอง เกษตรจังหวัดชุมพร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันชุมพรปลูกมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอันดับ 2 ของประเทศ ส่วนใหญ่ปลูกมะพร้าวแกง โดยมีพื้นที่การปลูกทั้งหมด 97,000 ไร่ แปลงใหญ่จำนวน 14 แปลง ประมาณ 4,000 ไร่

ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2566-2567) ชุมพรประสบปัญหาร้อนแล้ง ทำให้มะพร้าวช่อดอกหลุดร่วง 1 ทะลายเหลือผลผลิตไม่ถึง 10 ลูก และต้องดูแลรักษาในระยะยาวกว่า 24 เดือน ตั้งแต่ออกช่อดอกจนถึงออกลูก ดังนั้น ปัญหาร้อนแล้งจะกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 ประกอบกับน้ำไม่เพียงพอต่อการบำรุง

dried coconut

เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ใช้ระบบชลประทาน แต่อาศัยน้ำฝนมาใช้ในสวนมะพร้าวเป็นหลัก ทำให้คาดการณ์ว่าผลผลิตมะพร้าวในปี 2567 ลดลง 10-15% เหลือประมาณ 100,000 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีผลผลิตรวมประมาณ 117,000 ตัน

สำหรับมูลค่าทางเศรษฐกิจของมะพร้าวในจังหวัดชุมพร ปี 2567 คาดว่าจะลดลง 15% เหลือประมาณ 900 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 1,081 ล้านบาท ส่วนปี 2568 คาดว่าผลผลิตจะลดลงถึง 10% จากปัญหาร้อนแล้งต่อเนื่อง