“มูลิน” ล้งทุเรียน หนึ่งเดียวเมืองกาญจนบุรี

tin
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

นายติณณ์ นิสยมาตร์ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน และเจ้าของล้งมูลินทุเรียน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล้งมูลินเป็นล้งทุเรียนแห่งแรกและแห่งเดียวใน จ.กาญจนบุรี เนื่องจากมองเห็นศักยภาพของทุเรียนใน จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำ สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

โดยเฉพาะทุเรียนทองผาภูมิมีความเป็นเอกลักษณ์ และมีจุดเด่นเฉพาะตัว มีกลิ่นน้อยกว่าทุเรียนทางภาคตะวันออกและภาคใต้ ปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดรับซื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทองอย่างเดียว เพื่อส่งออกไปเมืองเสิ่นหยาง ประเทศจีน โดยราคารับซื้อล่าสุด ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2567 เกรด A และ B ราคา 155 บาท เกรด C ราคา 115 บาท และเกรด D 105 บาท ไม่รับซื้อทุเรียนตกไซซ์ ตั้งเป้ารับซื้อฤดูกาลแรก 120 ล้านบาท

ในฐานะที่เป็นชาวสวนทุเรียน เรามองว่าพื้นที่นี้มีการปลูกทุเรียนมายาวนาน มีพ่อค้าจากพื้นที่อื่นเข้ามารับซื้อทุเรียนของเราไปสร้างแบรนด์ส่งออก ซึ่งเรามองว่าคนอื่นทำได้เราต้องทำได้ เพราะเราเป็นคนที่นี่ อยู่ที่นี่ ทำไมเราไม่ดันชื่อแบรนด์เป็นของตัวเองขึ้นมา ไม่ต้องไปใช้ชื่อแบรนด์ร่วมกับคนอื่น และคุณภาพทุเรียนของเราก็ดีกว่าด้วย ทุเรียน อ.ทองผาภูมิ เพิ่งได้ GI ของ จ.กาญจนบุรี ผลผลิตออกช่วงเดียวกับทุเรียนจันทบุรีและภาคใต้ เป็นทุเรียนน้องใหม่ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ใยจะน้อย กลิ่นน้อยกว่าทุเรียนภาคอื่น ๆ

การเริ่มต้นทำล้งทุเรียนในฐานะคนรุ่นใหม่ถือว่ายากมาก ต้องเรียนรู้ทั้งการดูแลรักษา สภาพอากาศ การตลาดทั้งฝั่งประเทศไทยและฝั่งประเทศจีน ถือว่าเป็นการทำธุรกิจที่ท้าทาย มีการเดินทางไปติดต่อธุรกิจกับทางประเทศจีนด้วยตัวเอง ปีที่แล้วได้พูดคุยกับลูกค้าฝั่งเมืองคุนหมิง ประเทศจีน

ซึ่งมีความสนใจในทุเรียนทองผาภูมิ แต่ยังต้องพิจารณาในส่วนของคุณภาพที่จะต้องมีการจัดส่งจากล้งไปคุนหมิง สภาพอากาศเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและเป็นอุปสรรคในการดูแลรักษาทุเรียนมากที่สุด ประกอบกับสถานการณ์ตลาดทุเรียนในประเทศเพื่อนบ้าน

Advertisment

ล้งมูลิน

โดยเฉพาะฝั่งเวียดนามที่กำลังเริ่มได้รับความนิยมและเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดจีน ถือว่าเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองของไทย แต่เรามองว่า ถ้าเรายังคงรักษาระดับคุณภาพไว้เราก็ไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ แน่นอน

เรามองว่าราคาตลาดทุเรียนในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่ดีถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนอนาคตอาจจะถูกลงเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้น ในฐานะล้งรับซื้อทุเรียนก็อยากจะให้เกษตรกรดูแลผลผลิต ซึ่งควรจะเก็บเกี่ยวทุเรียนแก่

ซึ่งมีผลต่อการรักษาระดับคุณภาพของทุเรียนก่อนที่จะส่งไปถึงมือผู้บริโภค เราเข้าใจในมุมมองของเกษตรกรที่ส่งทุเรียนให้ได้ราคาที่ดีที่สุด ถ้าได้ราคาสูงก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ไม่อยากให้ไปตามกระแสราคา อยากให้ยืนหลัก อย่าไปเก็บเกี่ยวอ่อน เน้นลูกที่แก่ แล้วค่อยขาย

Advertisment

ล้งมูลิน

ในฐานะคนรุ่นใหม่เรามองว่าทุเรียนไทยยังสามารถเติบโตได้อีกในตลาดจีน ถ้าเกษตรกร ล้ง ผู้ค้าให้ความร่วมมือกันในการผลิตและตรวจสอบทุเรียนที่มีคุณภาพส่งออกไป ซึ่งจากการสำรวจทุเรียนจีนในตลาดจีน พบว่าแบรนด์ทุเรียนไทยยังคงวางขายเกือบทุกพื้นที่ และยังคงได้รับความนิยมอยู่ แต่ประเด็นที่เราอาจจะเป็นรองกับทางเวียดนามคือเรื่องการขนส่ง ซึ่งทำให้ทุเรียนเวียดนามสามารถคงคุณภาพได้นานกว่าทุเรียนไทย

“เกษตรกรบางคนก็ส่งทุเรียนกับพ่อค้าเจ้าประจำ หรือมีพ่อค้าเข้าไปรับซื้อถึงหน้าสวน บางคนยังไม่มั่นใจในศักยภาพของล้งเรา เนื่องจากเพิ่งเปิดได้เพียง 1 ปี แต่อยากแนะนำให้เกษตรกรลองเปิดโอกาสให้กับล้งแรกในกาญจนบุรี และมาเสนอราคากับทางล้งดู เพื่อที่จะได้รู้ราคาที่แท้จริง”