บรรณ เกษมทรัพย์ “โลจิสติกส์โลกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน”

บรรณ เกษมทรัพย์
บรรณ เกษมทรัพย์
สัมภาษณ์พิเศษ

การแข่งขันในโลกธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการให้แข่งขันกับคู่แข่งได้ “บรรณ เกษมทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGJWD ในเครือ SCG ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนงานและการปรับตัว เพราะวงการโลจิสติกส์ทั่วโลกกำลังก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน

กำเนิด SCGJWD ยอดขาย 2.4 หมื่นล้าน

SCGJWD มาจากการรวมตัวของ SCG Logistics กับ JWD INFO Logistics บริษัทตลาดหลักทรัพย์ฯ SCG Logistics เป็นเรือธงด้าน Logistics ขนส่ง คลังสินค้า มาตั้งแต่วิกฤตปี 2540 แล้วแยกตัวเป็นอีกหนึ่งบริษัทในเครือ SCG เน้นทำขนส่ง มีคลังสินค้าใหญ่สุดในไทย มีรถขนส่งของพันธมิตรมาวิ่ง 10,000 คัน

ผ่านมา 20 ปี SCG มีแนวคิดอยากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเลือกบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่แล้ว และทำธุรกิจไม่ซ้ำกัน แต่ว่าเสริมกัน ก็มาพบ JWD INFO Logistics ซึ่งโมเดลธุรกิจต่างกันสิ้นเชิง ตอนนี้ครบรอบ 1 ปีแล้วหลังรวมกิจการ JWD หลัก ๆ ทำโลจิสติกส์ให้กลุ่มรถยนต์ ห้องเย็น เคมีคอลซึ่งเป็นสินค้าอันตราย มียอดขาย 5,000 ล้านบาท

ขณะที่ยอดขาย SCG Logistics มี 20,000 กว่าล้านบาท รวมกันทำให้ยอดขายปี 2566 อยู่ที่ 24,000 ล้านบาท ถือเป็นบริษัทโลจิสติกส์ที่ใหญ่สุดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทำธุรกิจแบบ B to B ในอาเซียนเรามีออฟฟิศอยู่ใน 9 ประเทศ รวมจีนตอนใต้ ไม่มีบรูไน ส่วนสิงคโปร์ใช้บริษัทจากมาเลเซียเข้าไปให้บริการ

วันนี้ธุรกิจไม่ได้มองเพียงประสิทธิภาพอย่างเดียว แต่มองเรื่องความยั่งยืน เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว หลังโควิด-19 เกิดปัญหาขนส่งไม่ได้ ต้องส่งทางเครื่องบิน โลจิสติกส์เปลี่ยนแปลงทั่วโลกช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการนำเทคโนโลยีมาใช้มาบริหารจัดการ Just-in-time คือ วันนี้ต้องการของ 100 ชิ้น ต้องส่งพอดี 100 ชิ้น

Advertisment

แต่พอซัพพลายเชนเปลี่ยน ลูกค้าไม่ใช้ Just-in-time แต่เป็น Just-in-case ยืดหยุ่นมากกว่า Just-in-time สมมุติเกิดปัญหาในทะเลแดง เรือวิ่งผ่านไม่ได้ ทำให้ส่งของจากเมืองจีนมาไม่ได้ จะส่งไปอเมริกาโดนบล็อก หากโรงงานผู้ผลิตประสบปัญหาเช่นนี้จะบริหารจัดการโดยสั่งสินค้าที่มากกว่าที่ต้องการ เพื่อให้โรงงานเดินเครื่องผลิตสินค้าได้ต่อเนื่อง

เช่น เดิมสั่ง 100 ชิ้นต่อวัน SCG ต้องเตรียมเก็บสินค้าในคลังสินค้าล่วงหน้า 15 วัน 1,500-2,000 ชิ้น เวลาสั่งสินค้าจากเมืองนอกใช้เวลา 2 สัปดาห์กว่าจะมาถึง ก็พอดี ๆ กับความต้องการใช้

ตอนนี้ทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องเตรียมสินค้าล่วงหน้าจาก 3-4 สัปดาห์เป็น 1 เดือน เผื่อการเดินเรือชะงัก

จึงต้องมีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง เผอิญมี Disruptive Technology เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจ พวก AI ทำเรื่อง Scenario Analysis ดูสถานการณ์ในอดีต และวิเคราะห์อนาคต นำเรื่องพวกนี้มาทำเรื่องการบริหารสินค้าคงคลัง SCG ลงทุนเรื่องเหล่านี้

Advertisment

เพราะลูกค้าแต่ละรายไม่ได้ลงทุน ฉะนั้นการทำโลจิสติกส์ในอนาคตจะเกี่ยวกับ DisplayPort (DP) Digital, AI Technology ทำให้เกิดประสิทธิภาพต้องทำอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้อยู่ในบริบทแบบใหม่

ใครนำเทคโนโลยีมาใช้ได้เร็วกว่า เช่น ธุรกิจนำเข้า-ส่งออก จะเกี่ยวข้องกับเอกสาร ต้องมีการคีย์ข้อมูลสินค้าเยอะมาก เราต้องจ้างคนมานั่งคีย์เอกสาร เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยี Optical Character Recognition(OCR) ,โปรแกรม Robotic Process Automation (RPA) เข้ามาช่วยอ่านโดยไม่ต้องนั่งคีย์ข้อมูลแล้ว

AI ช่วยเรื่องความปลอดภัย เพราะ SCGJWD มีวิ่งรถขนส่งสินค้า 2 ล้านออร์เดอร์ต่อปี เฉลี่ยระยะทาง 100-200 กิโลเมตรต่อออร์เดอร์ เท่ากับ 1 ปีวิ่ง 200 ล้านกิโลเมตรต่อปี เป็นรถขนาดใหญ่ โอกาสเกิดอุบัติเหตุมีสูงมาก เรานำเทคโนโลยีมาใช้ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ กล้องส่องหน้ารถ ส่องคนขับ คนขับกะพริบตากี่ครั้งเราจะรู้คนขับง่วงนอนมั้ย AI ช่วยได้ ฉะนั้นเรื่องความสำคัญในอนาคต จะทำอย่างไรให้แตกต่างกว่าคนอื่น

โดรนบริหารจัดการคลังสินค้า

เรานำ AI มาทำเรื่องระบบการบริหารการจัดการขนส่ง (Transportation Management System) เป็นระบบที่จัดรถให้วิ่งไปขนสินค้าได้พอดีกับความต้องการขนสินค้าในคลังสินค้า เอา AI มาจัดระเบียบการวางสินค้าเข้ามาในรถ AI จะคำนวณการจัดเรียงสินค้า

เมื่อก่อนใช้ระบบการบริหารจัดการคลังสินค้า เรารู้ว่าสินค้าอะไรอยู่ตรงไหน แต่ไม่รู้ว่าสินค้าหายหรือไม่ จึงตรวจสอบทุก 3-6 เดือนจะทำการตรวจนับสินค้า เพื่อใช้ทางบัญชี ใช้เวลาตรวจนับสินค้า ถ้าเป็นโกดังขนาดใหญ่ ใช้เวลา 1 สัปดาห์ยังตรวจได้ไม่ครบ

วันนี้มาถึงจุดที่ว่า เราใช้กล้องและโดรนบินเข้าไปในคลังสินค้า กำลังเริ่มทดลองอยู่ โดรนจะบินไปทีละชั้น สินค้าแต่ละกล่องจะมีบาร์โค้ด ทำให้กล้องที่ติดกับโดรน สแกนตรวจจับได้หมด นับได้หมด

ในคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ ติดลบ 20-50 องศาเซลเซียส เรากำลังทดลองใช้รถโฟร์กลิฟต์ไร้คนขับเข้าไปวิ่งในห้องเย็น ถึงจะวิ่งช้ากว่าคนขับจริง แต่คนขับจริงวิ่งได้แค่ 30 นาที ก็ต้องออกมาแล้วเพราะว่าหนาวมาก แต่รถโฟร์กลิฟต์ไร้คนขับวิ่งได้ทั้งวัน

รุกธุรกิจคลังสินค้าเย็น

วันนี้เริ่มทำหลายอย่าง วิ่งไปหาลูกค้า เข้าไปในพื้นที่ เพราะเรามีความเชื่อ หลังดูงานต่างประเทศ ไอเดียเรื่องอาหารปลอดภัย จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร เช่น การทำเหล้า เราเข้าไปเก็บตั้งแต่วัตถุดิบ องุ่น และก่อนมาทำไวน์

หรือโครงการหลวง มีคลังสินค้าเล็ก เราใช้วิ่งรถไปรับสินค้าบนดอย ใช้คอนเซ็ปต์ที่ว่า From farm to table ใช้รถขึ้นดอยมายังคลังสินค้าในเมืองเชียงใหม่ ตอนนี้ก็ขยายคลังไปต่างจังหวัดมากขึ้น

เมื่อก่อนใช้รถคันใหญ่ รถควบคุมอุณหภูมิขนาดใหญ่ แต่พวก SMEs ไม่ต้องการขนด้วยรถคอนเทนเนอร์เย็นขนาดใหญ่ ตอนนี้มีรถคันเดียวให้บริการได้หลากหลาย ทั้งแบบอุณหภูมิปกติ แบบเย็น อุปกรณ์พวกนี้เก็บความเย็น ไม่ได้สร้างความเย็น แต่อนาคตเรากำลังจะนำ “เทคโนโลยีสร้างความเย็น” มาใช้ ร่วมกับบริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) ทำตู้เย็นขนาดเล็กในรถขนาดใหญ่

เราอยากผลักดันเรื่อง Food Logistics เพราะไทยเป็น Kitchen of the World ภาครัฐอยากให้เมืองไทยเป็น เพราะเราเก่งเรื่องท่องเที่ยวและอาหาร

ปัจจุบันเรามีฮับสินค้าแห้งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 16 แห่ง รวมพื้นที่ 2 แสนตารางเมตร แต่เราจะต่อยอดลงทุนคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) เพิ่มอีก 5 แห่ง วงเงิน 1,500 ล้านบาท รวมพื้นที่ 36,000 ตารางเมตร พาลเลต 50,000 พาลเลต เพื่อต่อยอดเรื่อง From farm to table

คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิจะทำ 5 แห่ง ได้แก่ 1) จ.สระบุรี เป็นคลังเดิมที่มีอยู่แล้ว เราต่อเติมไปคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิเพิ่มอีก 1 คลัง 2) นวนคร จ.ปทุมธานี 3) รังสิต จ.ปทุมธานี ทั้งนี้ คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่ จ.สระบุรี และนวนคร จ.ปทุมธานี จะเก็บประเภทอาหารสด เช่น ไก่ หมู ส่วนคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่รังสิต จ.ปทุมธานี จะเป็นคลังสินค้าที่เก็บสินค้าหลากหลายประเภท เช่น เวชภัณฑ์-ยา

4) จ.เชียงใหม่ และ 5) จ.ขอนแก่น ทั้ง 2 แห่งนี้มีคลังสินค้าแห้งเดิมอยู่แล้ว การดัดแปลงให้สามารถเก็บสินค้าได้ทั้งประเภทสินค้าแห้งและสินค้าเย็น ซึ่งถือเป็นการทดสอบด้วยว่า หากสามารถปรับปรุงและดัดแปลงคลังสินค้าแห้งเดิมที่มีอยู่ ไปทำคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิด้วยได้ ก็มีแนวคิดจะนำคลังสินค้าแห้งอีก 14 แห่งที่มีอยู่มาดัดแปลงทำคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ

นอกจากนี้เราทำธุรกิจตัวแทนผู้ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศรายใหญ่ เดิมทำแค่ภายใน SCG กลุ่มปิโตรเคมี, กลุ่มวัสดุก่อสร้าง-ซีเมนต์, กลุ่ม Packaging ปีละ 100,000 ตู้ เมื่อก่อนแต่ละกลุ่มธุรกิจต่างคนต่างซื้อ เช่น แพ็กเกจจิ้งก็ซื้อเอง เซรามิก ปูนซีเมนต์ แยกกันหมด พอเป็น SCGJWD ต้องรวมกันซื้อทั้งหมด ทำให้ได้ราคาดีขึ้น

ในอนาคตคงต้องเติบโตในตลาดอาเซียน ในประเทศไทยถึงเราจะมีรถขนส่ง 10,000 คัน ถือว่าเป็นเจ้าใหญ่ในไทย ถ้าดูบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ โมเดลแบบ SCGJWD ทำ B to B โลจิสติกส์ ที่มีการทำโลจิสติกส์ครบวงจร ในอาเซียนถือว่าเราเบอร์หนึ่งเหมือนกัน

แต่ยังไม่ใหญ่ ต้องใหญ่กว่านี้ เราตั้งเป้าหมายไว้ จะทำอย่างไรให้มีมูลค่า 1 แสนล้านบาทให้ได้ วันนี้เราทำได้ 24,000 ล้านบาท เราต้องแตะ 1 แสนล้านบาทให้ได้

“เราจะทำยังไงที่จะต้องมีรายได้เติบโตแตะแสนล้านบาทให้ได้”

ดันไทยสู่ฮับโลจิสติกส์

วันนี้มีโจทย์ใหญ่ รัฐบาลมีนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ เรามีแต่รถ แต่ทางราง รถไฟมีน้อยมาก ถ้าเทียบต่างประเทศ การขนส่งทางรางเรายังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการเชื่อมต่อ

ปี 2567 ตั้งเป้ารายได้ 12% แต่เกือบ 2 ไตรมาส เศรษฐกิจชะลอ ธุรกิจโลจิสติกส์ก็เช่นกัน ถ้าธุรกิจลูกค้าไม่ดี โลจิสติกส์ก็จะไม่ดีตาม จึงต้องปรับแผนการเติบโตอยู่ที่ 10% แต่กำไรไม่ให้ลด พยายามหาลูกค้าที่ดี มีศักยภาพมากขึ้น ต้องลดต้นทุนหลังบ้าน ซึ่งปี 2566 ได้กำไร 694 ล้านบาท