ซาลัสฯเบรกลงทุน “กัญชา” ปรับแผนมุ่งส่งออก-ลดเสี่ยง

Withwin
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

หลังการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายต่างตื่นตัวลงทุนกันมากมาย ขณะเดียวกันมีคดีเกี่ยวกับยาเสพติดพุ่งขึ้น ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด

โดยขีดเส้นภายในสิ้นปี 2567 พร้อมให้เร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “วิธวินท์ วิทยานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการบริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานผลิตยาสารสกัดจากกัญชาและกัญชง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ถึงนโยบายรัฐบาล และผลกระทบต่อธุรกิจ

ปรับแผนลงทุน-มุ่งส่งออก

นโยบายของรัฐบาลที่เตรียมจะนำกัญชากลับเข้าสู่บัญชียาเสพติด ทำให้ในปี 2567 นี้ บริษัทต้องปรับแผนหลายด้าน ได้แก่ 1.ชะลอการลงทุนขยายการปลูกกัญชาในพื้นที่ 25 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกในปัจจุบันที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งการขยายจำนวนการปลูก และการขยายจำนวน Crop รวมถึงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้เต็มศักยภาพเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

โดยตั้งงบฯลงทุนไว้ที่ราว 20 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องชะลอออกไปก่อน เพื่อรอดูความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลในเรื่องนี้ เพราะหากนโยบายออกมาในลักษณะเป็นการปิดกั้นการปลูก จะทำให้การลงทุนของบริษัทสูญเปล่า โดยคาดว่าผลผลิตกัญชาในปีนี้จะอยู่ที่ราว 2-3 ตันต่อปี หรือราว 2,000-3,000 กิโลกรัมต่อปี จากกำลังการผลิตเต็มอยู่ที่ 8-10 ตันต่อปี หรือราว 8,000-10,000 กิโลกรัมต่อปี

2.ชะลองานวิจัย R&D ที่เป็นแผนงานในปีนี้ ตั้งงบฯลงทุนไว้ที่ 20 ล้านบาท โดยเฉพาะงานวิจัยใหม่ ๆ จำเป็นต้องชะลอออกไปทั้งหมด ส่วนงานวิจัยเดิมที่ยังคงค้างทำอยู่จะเดินหน้าต่อไปให้จบ

Advertisment

marijuana

3.ปรับแผนการตลาดมุ่งขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงหากมีความผันผวนของนโยบายรัฐบาล โดยเตรียมส่งออกผลิตภัณฑ์ ทั้งยาสมุนไพรสารสกัด CBD และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไปหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน แอฟริกาใต้ และเยอรมนี ซึ่งหลายประเทศมีการแก้กฎหมาย ทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และยุโรป ตลาดเติบโตมาก

โดยรัฐบาลแต่ละประเทศให้ความสำคัญเกี่ยวกับกัญชาในเชิงสุขภาพ และป้อนข้อมูลความรู้ให้ประชาชนนำไปใช้อย่างถูกต้อง เช่น โรงพยาบาลในไต้หวันหลายแห่งเปิดรับสารสกัด CBD ที่นำมาทำยาสมุนไพร โดยหลายประเทศทำการซื้อขายกับบริษัทไปบางส่วนแล้ว รวมถึงออสเตรเลียสนใจนำเข้าช่อดอกกัญชาของบริษัทไปสกัดเอง ทั้งนี้ การปรับแผนมุ่งส่งออกช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทได้ค่อนข้างมาก

เปิดคลินิกกัญชาการแพทย์

สำหรับแผนงานในปี 2567 ที่ได้เริ่มลงทุนไปแล้วคือ โครงการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ที่จะเปิดบริการภายในพื้นที่โรงงานของบริษัท ซาลัสฯ ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ งบฯลงทุน 5 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นคลินิกแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน

Advertisment

โดยนำผลิตภัณฑ์กัญชาของบริษัทมาให้บริการทางการแพทย์เพื่อการรักษาโรค ที่แพทย์สามารถสั่งจ่ายยาได้ อาทิ โรคนอนไม่หลับ โรคเครียด โรคปวดเมื่อยร่างกาย ปวดข้อ-เข่า โรคพาร์กินสัน โดยลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยว ที่มีความต้องการใช้แพทย์ทางเลือก ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ราวไตรมาส 4 ปี 2567

ขณะเดียวกัน ในด้านการตลาดยังคงเดินหน้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งยาสมุนไพรสารสกัด CBD และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แบ่งสัดส่วนเป็นตลาดในประเทศ 80-90% ต่างประเทศ 10-20% โดยผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าหลัก อาทิ น้ำมันหยด ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ราว 10,000 ขวดต่อเดือน และหากผลิตเต็ม Capacity สามารถผลิตได้มากถึง 400,000-500,000 ชิ้นต่อเดือน กลุ่มลูกค้าคือ กลุ่มคลินิกในประเทศ และต่างประเทศ

รวมถึงขายออนไลน์ให้กลุ่มลูกค้าทั่วไปด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างประเทศ ที่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของกัญชาเชิงสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่อยู่ระหว่างการขอ อย. เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อการผ่อนคลายการนอนหลับ ลดการอักเสบกล้ามเนื้อ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ รวมถึงเครื่องสำอางที่อยู่ระหว่าง R&D คาดว่าจะเปิดจำหน่ายได้ภายในปี 2567

ลดเป้ารายได้-ลดพื้นที่ปลูก

รายได้ของบริษัทในปี 2566 อยู่ที่ราว 50-60 ล้านบาท โดยปี 2567 ตั้งเป้าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 40-50% แต่อาจต้องปรับลดเป้าลงมา เนื่องจากนโยบายกัญชาที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาล ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะยังคงสนับสนุนการใช้กัญชาในทางการแพทย์และประโยชน์ต่อสุขภาพอยู่ เพราะนโยบายเรื่องกัญชามีความสำคัญมากต่อการรับรู้ของผู้บริโภค

ทั้งนี้ บริษัทได้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตยาสารสกัดจากกัญชาและกัญชง เมื่อเดือนเมษายน 2564 มูลค่าการลงทุนราว 900 ล้านบาท บนพื้นที่ราว 10 ไร่ ใน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยขณะนี้ได้ลงทุนไปแล้ว 60% และอีก 40% เป็นโครงการส่วนต่อขยาย เช่น การทำโรงงานอัดเม็ดยา บรรจุยาแคปซูล ยาน้ำ คาดว่าจะพัฒนาเต็มพื้นที่ทั้งหมดภายใน 3-5 ปี

ซึ่งโรงงานที่เปิดบริการในปัจจุบันได้รับการรับรองสถานที่ผลิตจากคณะกรรมการอาหารและยาตามมาตรฐาน GMP/PICs และมีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยและครบวงจร บริษัทนำเข้าเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐาน EU-GMP ถือเป็น 1 ใน 3 ของโลก รองจากแคนาดาและสหรัฐอเมริกา

marijuana

โดยเฉพาะเครื่องสกัดมีมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ทำให้สามารถผลิตสารสกัดกัญชาและกัญชงออกมาได้หลายรูปแบบ อาทิ สารสกัด CBD เข้มข้น, น้ำมัน CBD, สารสกัด CBD บริสุทธิ์ สารสกัด CBD รูปแบบผงที่ละลายน้ำได้ และสารสกัด CBD รูปแบบละลาย ซึ่งสามารถผลิตได้ในปริมาณมากพอที่จะรองรับตลาดทุกกลุ่มธุรกิจ

ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ปลูกกัญชา 25 ไร่ ที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และจากเดิมที่เคยทำระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) กับเกษตรกรจากหลายจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 14 ราย ขณะนี้คงเหลือการทำ Contract Farming กับเกษตรกรเพียง 1 รายเท่านั้น ที่จังหวัดเลย พื้นที่ราว 100 ไร่ เป็นการปลูกแบบอินทรีย์ทั้งหมด โดยเกษตรกรที่เลิกระบบ Contract Farming ไป 13 รายนั้น เนื่องจากไม่มั่นใจในนโยบายกัญชาของรัฐบาล จึงไม่กล้าลงทุนเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวโน้มทิศทางตลาดกัญชา โดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมกัญชาจะเติบโตได้อีกมาก ถ้าไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากเกินไป