ทุเรียนใต้ “ผวาร้อนจัด” ลากยาว ผลผลิตวูบ 20-30% เร่งหาแหล่งน้ำสำรอง

duriannn

ภาคใต้ประเมินผลผลิต “ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง” ปี 2567 เพิ่มขึ้นเพียง 6.68% เหตุสภาพอากาศแปรปรวน ชาวสวนฟันธง เฉพาะทุเรียน คาดหากร้อนแล้งลากยาวผลผลิตอาจหายไป 20-30%

นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา (สสก.ที่ 5) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สสก.ที่ 5 ร่วมประชุมกับนายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์ผลไม้ 4 ชนิด ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง

ปี 2567 ใน 14 จังหวัดภาคใต้ในการประชุมคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 มีปริมาณผลผลิตรวม 904,755 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 848,094 ตัน เพิ่มขึ้น 6.68%

โดยทุเรียน มีปริมาณผลผลิตรวม 670,987 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 612,420 ตัน เพิ่มขึ้น 9.56% มังคุด ผลผลิตรวม 148,018 ตัน ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 148,359 ตัน หรือลดลง -0.23% เงาะ ปริมาณผลผลิตรวม 52,732 ตัน ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 53,498 ตัน หรือลดลง -1.43% ลองกอง ปริมาณผลผลิตรวม 33,018 ตัน ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 33,817 ตัน หรือลดลง -2.36%

“ข้อมูลข้างต้นเป็นผลสรุปของเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2567 แต่ขณะนี้เกิดภาวะแล้งที่จะลากยาว ส่งผลต่อการประเมินปริมาณผลผลิตของผลไม้ทั้ง 4 ชนิดยังไม่นิ่ง แนวโน้มจะมากหรือน้อยยังบอกไม่ได้ชัดเจน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ หากมีภาวะแล้งลากยาวอาจจะมีปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ดังนั้นเกษตรกรจะต้องสำรองน้ำไว้รองรับอย่างพอเพียง ตอนนี้ได้ส่งสัญญาณให้เกษตรกรทราบถึงสถานการณ์สภาพภูมิอากาศเป็นรายวัน รายสัปดาห์”

Advertisment

นายวุฒิศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ปี 2567 ภาคใต้มีพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด รวมเนื้อที่ยืนต้น 814,438 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 เนื้อที่ยืนต้น 726,369 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 12.12% ส่วนเนื้อที่ให้ผลปี 2567 มี 578,464 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีเนื้อที่ให้ผล 547,225 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 5.71%

โดย 5 จังหวัดที่ปลูกมาก ได้แก่ ชุมพร มีเนื้อที่ยืนต้น 327,793 ไร่ มีเนื้อที่ให้ผล 228,672 ไร่, สุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่ยืนต้น 116,216 ไร่ มีเนื้อที่ให้ผล 80,186 ไร่, นครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ยืนต้น 109,776 ไร่ มีเนื้อที่ให้ผล 72,882 ไร่, ยะลา มีเนื้อที่ยืนต้น 105,401 ไร่ มีเนื้อที่ให้ผล 73,382 ไร่ ระนอง มีเนื้อที่ยืนต้น 46,776 ไร่ มีเนื้อที่ให้ผล 46,190 ไร่ ขณะที่มังคุด เงาะ ลองกอง มีพื้นที่ปลูกลดลง

นายนัด ดวงใส เจ้าของสวนทุเรียน ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุเรียนในฤดูกาลปี 2567 ของภาคใต้จะขาดหายไปปริมาณมาก โดยแหล่งที่ปลูกเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ คือ จ.ชุมพร จะขาดหายไปประมาณ 30% เนื่องจากความผันแปรของสภาพอากาศ ฝนแล้ง ร้อนจัด อากาศชื้น ชุมพรฝนตกมา 3 ครั้ง

ในขณะนี้บางพื้นที่ฝนแล้งร้อนจัดมากว่า 2 เดือนติดต่อกัน จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ดอกทุเรียนร่วง และหลายพื้นที่น้ำในสระหรือในบ่อที่มีไม่เพียงพอไปหล่อเลี้ยงต้นทุเรียน ทำให้ไม่มีการออกดอก และบางสวนมีการยืนต้นตาย

Advertisment

ตาราง ทุเรียน-

“ทุเรียนราคาสูงก็จริง แต่ต้นทุนการปลูกก็สูงขึ้นเช่นกัน ทั้งในการดูแล การรักษาโรค ทั้งปุ๋ยทั้งยา ทุเรียนเป็นพืชที่ละเอียดอ่อนในการดูแลรักษา” นายนัดกล่าว

ทางด้านเจ้าของสวนทุเรียน จ.ยะลา เปิดเผยว่า ขณะนี้แหล่งปลูกทุเรียนพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำอย่างหนัก โดยเฉพาะ อ.เบตง ฯลฯ เกิดการขาดแคลนน้ำ ต้องวิ่งหาแหล่งน้ำสำรองกันจำนวนมาก ในขณะที่ทุเรียนกำลังออกดอกเพื่อต่อยอดเป็นผลผลิต หากขาดน้ำจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงแน่นอน เพราะดอกจะร่วงหล่นเสียหาย และอาจจะได้ผลทุเรียนที่ไม่สมบูรณ์

ทางด้านเจ้าของสวนทุเรียน จ.พัทลุงเปิดเผยว่า ทุเรียนได้ราคาที่ดีต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนกันเพิ่มขึ้น ปีนี้เปิดฤดูกาลภาคตะวันออกราคาทุเรียนค่อนข้างสูง ถือเป็นทิศทางที่ดี ซึ่งจะมีผลดีต่อเนื่องมาถึงราคาทุเรียนในภาคใต้ แต่สภาพของอากาศที่แปรปรวนในปีนี้ ทำให้การดูแลทุเรียนค่อนข้างลำบาก ที่สำคัญ ต้องมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ

ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นปี 2567 แนวโน้มทุเรียนจะให้ผลผลิต 3 รุ่น โดยรุ่นแรกกำลังออกดอก แต่ปรากฏว่าอากาศร้อนจัดลากยาว จากการสำรวจจากดอกที่ออกมา คาดว่าผลผลิตอาจจะลดลงประมาณ 20-30% เทียบกับปี 2566