ผลสำรวจโควิด “ด้านสังคม” 60% กังวลหน้ากากอนามัยไม่พอ-ไม่พร้อมเรียนออนไลน์

สำนักงานสถิติฯ เผยผลสำรวจผลกระทบโควิด-19 ด้านสังคม พบราว 50% ประชาชนกังวลปัญหาการเดินทาง-การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค  43% ยังหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ แต่เกือบ 60% กังวลว่าจะมีไม่เพียงพอในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า ทั้งยังพบว่า 60% บุตรหลานไม่พร้อมจะเรียนออนไลน์ สาเหตุหลักไม่มีคอมพิวเตอร์

นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กล่าวว่า การสำรวจผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้านสังคม ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์ระหว่างวันที่ 13 – 19 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 43,448 คน

ผลการสำรวจพบว่า ราว 50% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการแพร่ระบาดของโรคส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมาก โดยเฉพาะด้านการเดินทาง การซื้อสินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภค และการเข้ารับบริการทางการแพทย์เมื่อเจ็บป่วย

โดยวิธีบรรเทาความวิตกกังวลนั้น ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการท่องอินเทอร์เน็ตและเล่นสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการใช้เวลาในการพูดคุย สนทนากับบุคคลในครอบครัว ญาติหรือเพื่อนผ่านช่องทางต่าง ๆ (โทรศัพท์ สื่อสังคมออนไลน์ ฯลฯ)  สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นช่องทางหลักและสำคัญเป็นอย่างมากต่อการใช้เวลาและการปฏิสัมพันธ์ของคน ดังนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน ควรพิจารณาจัดทำเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารไปยังประชาชนผ่านช่องทางนี้เป็นหลัก

ส่วนผลกระทบต่อการเข้าถึงสินค้าอุปโภคและบริโภค ผลสำรวจระบุว่า 61.83% ยังซื้อกับร้านค้าโดยตรงน้อยลง และมี 39.71% ที่ซื้อผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น มีเพียง 12.22% ที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าโดยตรงมากขึ้น

ในด้านอุปกรณ์ป้องกันไวรัส ราว 43% ในรอบ 7 วันยังสามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ มี 22% ที่หาซื้อไม่ได้ และยังไม่ได้ซื้อ 35%

ทั้งหากคาดการณ์ไปในอีก 1 เดือนข้างหน้า พบว่าเกือบ 60% วิตกกังวลว่า หน้ากากอนามัยจะไม่เพียงพอ มีเพียง 22.84% ที่มั่นใจว่าจะมีเพียงพอ ขณะที่แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อและน้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อนั้น ราว 45% กังวลว่าจะไม่เพียงพอ และ ราว 31% มั่นใจว่าจะมีเพียงพอข

ส่วนเจลแอลกอฮอล์ล้างมือเป็นอุปกรณ์ที่เชื่อว่าจะมีเพียงพอมากที่สุดถึงเกือบ 45% โดยมีราว 38% ที่กังวลว่าจะมีไม่เพียงพอ

ด้านความพร้อมในการเรียนออนไลน์ของบุตรหลาน กว่า 60% ระบุว่า ไม่มีความพร้อม โดยปัญหาหลักคือไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต และผู้ปกครองไม่มีเวลาและไม่มีทักษะด้านไอที ในการช่วยเหลือบุตรหลานในการเรียนออนไลน์

ส่วนการป้องกัน ช่วยเหลือ และดูแลคนในชุมชน ที่พบมากที่สุด 58.75% คือการให้ความรู้ข้อมูลข่าวสาร 32.70% คือการแจกหน้ากากอนามัย-วัดอุณหภูมิ 21.25% ไม่มีการดำเนินการใดๆ

สำหรับโครงการสำรวจครั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และทีมงานด้านข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN Joint Team on Data) จัดทำขึ้น

โดยจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจต่อประชาชน รวมถึงข้อมูลสำหรับประกอบการวัดความรู้ พฤติกรรมและการปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อสนับสนุนภาครัฐ ภาคเอกชนในการวางแผนและจัดทำนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ชุมชน และประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว