ดีอี ผนึกพันธมิตรท้องถิ่น-ภาคการศึกษา ปั้นโคราช เป็นเมืองต้นแบบดิจิทัล

โคราชโมเดล

ดีอีจับมือส่วนท้องที่-ท้องถิ่น หอการค้า มหาวิทยาลัย ลงนาม ปั้น “โคราชโมเดล” ยกระดับสู่ “มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” ขานรับนโยบายผลักดันไทยเป็น Digital Economy Hub

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน เรามีความต้องการยกระดับประเทศ ไปสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ Thailand Vision “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” โดยหนึ่งในเป้าหมายคือ การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) ดังนั้นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายดังกล่าว

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ ให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ร่วมกับการบริหารงานส่วนท้องถิ่น ตอบสนองความต้องการของประชาชน ให้ได้รับบริการจากภาครัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพประชาชน

รวมถึงบุคลากรภาครัฐ สร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค การนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำอย่างมั่นคงปลอดภัย ต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน

โดยในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดนครราชสีมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จัดโครงการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “Digital Korat : The Future Starts now-โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ผู้บริหารกระทรวงดีอี และหน่วยงานในสังกัด กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)

Advertisment

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (บีดีไอ) บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (เอ็นที) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) พร้อมทั้งเครือข่ายพันธมิตร และประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2557 ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา

ผนึกจังหวัด ท้องถิ่น หอการค้า และมหาวิทยาลัย

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า โครงการ “Digital Korat : The Future Starts now-โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” เป็นการขับเคลื่อนและยกระดับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นจังหวัดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ เป็นประตูสู่ภาคอีสาน มีศักยภาพความพร้อมในหลายด้าน สู่การเป็นเมืองดิจิทัลในระดับภูมิภาค ภายใต้ภารกิจของกระทรวงดีอี ใน 4 มิติ ประกอบด้วย

  1. ดิจิทัลเพื่อความเท่าเทียม (ด้านสังคม)
  2. ดิจิทัลเพื่อความปลอดภัย (ด้านความมั่นคง)
  3. ดิจิทัลเพื่อโอกาสที่ดีกว่า (ด้านเศรษฐกิจ)
  4. ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ด้านการดำเนินงานภาครัฐ)

ผ่านการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงดีอีและภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

1.การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นจังหวัดต้นแบบในการใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ลดการใช้กระดาษ (Paperless) การส่งเสริมการใช้งานด้านดิจิทัลในระบบบริการสาธารณสุข และการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล

Advertisment

2.ความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนากำลังคน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัล ให้กับนักศึกษาและบุคลากรของสถาบันการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา

3.ความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistic Hub) และส่งเสริม Soft Power ของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะ และการสร้างสรรค์ผลงานผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล

นอกจากนี้ กระทรวงดีอียังได้จัดกิจกรรมสัมมนาและอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลในด้านต่าง ๆ ได้แก่

  • การจัดกิจกรรมอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมกว่า 2,0000 คน
  • กิจกรรมแนะนำอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) และแอปพลิเคชั่น อสด. โดยผู้แทน สดช. เพื่อให้เกิดการพัฒนาและขยายเครือข่าย อสด.
  • กิจกรรมแนะนำบริการและข้อมูลที่ถูกต้องจากภาครัฐ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวออนไลน์
  • โครงการ GCC 1111 แจ้งเบาะแสข่าวปลอม เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย สื่อลามก อนาจาร เว็บไซต์พนัน รวมทั้งข้อมูลอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ ผ่านโทร.สายด่วน 1111
  • ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภัยออนไลน์ ประสานเรื่องการแจ้งความดำเนินคดี ระงับบัญชีธนาคาร
  • กิจกรรมจัดแสดงนิทรรศการของกระทรวงดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และภาคเอกชน ได้แก่ 1) การนำเสนอภารกิจ/โครงการสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี 2) การนำเสนอหลักสูตรวิชาการด้านดิจิทัลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ที่ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เช่น VR Training และ EV เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 3) การนำเสนอนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของภาคเอกชน ได้แก่ Smart City ของบริษัท Huawei และ AI Mapping Robot ของบริษัท Metthier รวมถึงเทคโนโลยีทางการสื่อสารจากบริษัท AIS และ True

“กระทรวงดีอีพร้อมขับเคลื่อนและยกระดับจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้นแบบของมหานครดิจิทัลแห่งอนาคต ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ ที่มีศักยภาพและความพร้อม ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลอย่างทั่วถึง สร้างสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างองค์ความรู้ พัฒนาทุนมนุษย์ให้กับประชาชน และบุคลากรหน่วยงานรัฐ ต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยทุกคนอย่างยั่งยืน พร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub ) ของภูมิภาค” รมต.ประเสริฐกล่าว