เส้นทาง 12 ปี “บัซซี่บีส์” ต่อยอด CRM สู่ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ

BUZZEBEES
ณัฐธิดา สงวนสิน

พฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิด-19 และเทรนด์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับตัว และสรรหาสิ่งใหม่มาต่อยอด New S-curve

รวมถึง “บัซซี่บีส์” (BUZZEBEES) สตาร์ตอัพรุ่นแรก ๆ ของไทยที่โลดแล่นมากว่า 12 ปี เชี่ยวชาญในการให้บริการระบบ CRM และ Loyalty Program แต่วันนี้จะเป็นมากกว่าผู้ให้บริการโซลูชั่น CRM สู่การเป็นผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce Enabler) เต็มรูปแบบ

เปิดเส้นทาง 12 ปี “บัซซี่บีส์”

“ณัฐธิดา สงวนสิน” กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด เปิดเผยว่า บัซซี่บีส์ก่อตั้งในปี 2555 เริ่มเป็นที่รู้จักจากการทำระบบหลังบ้าน Loyalty Program ให้ AIS Privilege และ Samsung Galaxy Gift จากนั้นในปี 2558 ได้ขยายไปมาเลเซีย

และในปี 2562 เปิดตัวโซลูชั่นการจัดการร้านค้า (Retail Solution) กระทั่งโควิด ธุรกิจโฟกัสการขายผ่านออนไลน์มากขึ้น จึงพัฒนาโซลูชั่นด้านอีคอมเมิร์ซ และขยายไปที่เวียดนามและอินโดนีเซีย ในปี 2565 เริ่มบุกฟิลิปปินส์ และลงทุนใน “Zort” ผู้ให้บริการจัดการระบบหลังบ้านร้านค้าออนไลน์ และปี 2566 เปิดตัว “Mediabuzz” ศูนย์รวมเพจ KOLs และอินฟลูเอนเซอร์ สำหรับการขายแบบ Affiliate

ล่าสุดปี 2567 ตั้งบริษัทร่วมทุนกับ “Got It” ผู้ให้บริการ Loyalty Program ในเวียดนาม และเปิดตัว “BEE’S Benefit” โซลูชั่นสร้างความสัมพันธ์ในองค์กร ต่อยอดจุดแข็งด้านการให้บริการ CRM เจาะ B2E (Business to Employee) โดยเฉพาะ

Advertisment

“ช่วงก่อตั้งเราเป็นสตาร์ตอัพเล็ก ๆ ที่พยายามเอาตัวรอดทุกวัน และตั้งเป้าว่าจะเป็นแกนหลักในการรันระบบหลังบ้านของแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการในไทยกว่า 97% วันนี้เราเติบโตมาเรื่อย ๆ มีทีมกว่า 600 คน เป็นทีมเทคโนโลยีและทีมธุรกิจอย่างละครึ่ง จากที่เคยเป็น Investee รับการลงทุน ก็กลายเป็น Investor ที่ลงทุนในสตาร์ตอัพด้วย”

เปิดพอร์ต 5 กลุ่มธุรกิจหลัก

“ณัฐธิดา” กล่าวว่า ปัจจุบันบัซซี่บีส์ให้บริการ 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.Loyalty & Marketing Platform 2.Retail & Restaurant Solutions 3.Rewards Sourcing & Management 4.e-Commerce Enabler และ 5.Affiliate Marketing Platform

สำหรับรายได้ในปี 2563 อยู่ที่ 921 ล้านบาท, ปี 2564 อยู่ที่ 1,142 ล้านบาท, ปี 2565 อยู่ที่ 1,751 ล้านบาท และปี 2566 อยู่ที่ 1,980 ล้านบาท

“สัดส่วนรายได้ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ แบ่งเป็นกลุ่ม CRM แกนหลักของบริษัท 40% กลุ่มอีคอมเมิร์ซ 30% กลุ่ม Retail และ Mediabuzz 30% ส่วนรายได้จากการให้บริการในต่างประเทศ เช่น มาเลเซียและฟิลิปปินส์ คิดเป็น 5-7% ปีนี้ตั้งเป้าโตจากปีก่อน 30%”

Advertisment

“ณัฐธิดา” กล่าวต่อว่า รายได้ของกลุ่มอีคอมเมิร์ซขยับขึ้นมาใกล้เคียงกับกลุ่ม CRM สะท้อนว่าดำเนินธุรกิจและปรับตัวได้ถูกทาง ท่ามกลางความท้าทายจากเทคโนโลยี ความต้องการของลูกค้า และเทรนด์ธุรกิจที่เปลี่ยนไป

“มั่นใจว่าส่วนแบ่งตลาด CRM ในไทยของบัซซี่บีส์เกิน 90% และ CRM กลายเป็นเรื่องจำเป็นของธุรกิจไปแล้ว แต่ด้วยความเป็นบริษัทเทคโนโลยี เราหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือโซลูชั่นตามเทรนด์ ซึ่งบางโซลูชั่นต้องใช้เวลากว่า 2 ปีกว่าจะติดตลาด หรือบางปีปล่อยมาเป็นสิบโปรเจ็กต์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเลยก็มี”

บทบาทผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ

“ณัฐธิดา” กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตมาก มีมูลค่าเป็นรองจากอินโดนีเซียที่มีประชากรมากกว่าเท่านั้น โดยในปี 2565 อยู่ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 อยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาโซลูชั่นให้ตอบความต้องการของภาคธุรกิจ

โซลูชั่นอีคอมเมิร์ซของบัซซี่บีส์ช่วยจัดการตั้งแต่การบริหารคลังสินค้า การจัดส่ง การตลาด และการขายสินค้าผ่านไลฟ์ โดยในปี 2566 ทำยอดขายให้ลูกค้าอีคอมเมิร์ซได้ก้าวกระโดดถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งมียอดขายรวมกว่า 1,000 ล้านบาท

“จุดแข็งของบัซซี่บีส์ คือ เราเชื่อมบริการได้ทุกส่วน มีพาร์ตเนอร์ที่ทำงานร่วมกันเยอะมาก เติมเต็มความต้องการของลูกค้าได้ เราแข่งที่คุณภาพ ไม่แข่งด้วยราคา พิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นว่าใช้โซลูชั่นของเราแล้วสร้างการเติบโตได้จริง”

Affiliate Marketing มาแรง

สำหรับเทรนด์ Affiliate Marketing หรือการขายสินค้าผ่านนายหน้า ก็เติบโตไม่แพ้กัน โดยข้อมูลของ Optionmaster ระบุว่า มูลค่าตลาด Affiliate ปี 2566 อยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าในปี 2573 จะขยายตัวเป็น 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และแบรนด์กว่า 80% ใช้ Affiliate Marketing เพิ่มยอดขาย

“การขายแบบ Affiliate บน TikTok มาแรงมาก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จำนวน KOLs เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 1 หมื่นคนเป็น 2 แสนคน แต่ที่มีประสิทธิภาพจริง ๆ อาจราว 10% ซึ่งบัซซี่บีส์เปิดตัว Mediabuzz ศูนย์รวมพาร์ตเนอร์ครอบคลุมทั้งด้านบันเทิงและความรู้ ที่มีฐานผู้ติดตามรวมกว่า 20 ล้านราย และใช้ดาต้าและ AI เข้ามาสร้างโมเดลการทำโฆษณาที่สร้างผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดทั่วไป”

ในปี 2566 Mediabuzz ทำยอดขายสินค้ารวม (GMV) ผ่านสื่อในเครือ Mediabuzz ได้ 2.2 พันล้านบาท และสร้างผลการตอบแทนจากค่าโฆษณา (ROAS) ได้สูงสุด 100 เท่า คาดว่าในปี 2567 ธุรกิจ Mediabuzz จะช่วยแบรนด์ต่าง ๆ สร้างยอดขายรวมกว่า 4 พันล้านบาท

“BEE’S BENEFIT” น่านน้ำใหม่

“จริง ๆ BEE’S BENEFIT เกิดมาเพื่อแก้ Pain Point ที่ในช่วงโควิดมีอัตราการลาออกสูง และพนักงานมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของบริษัทต่ำ จึงพัฒนาโซลูชั่นสร้างความสัมพันธ์ในองค์กร มองพนักงานเป็นศูนย์กลาง มีกิจกรรมสะสมแต้มแลกของรางวัล เหมือน CRM และ Loyalty Program ให้ลูกค้าทุกอย่าง โดยมุ่งหวังให้พนักงานมี Productivity ที่ดีขึ้น เราพบว่ากลุ่มโรงงานให้ความสนใจโซลูชั่นนี้”

วางแผนรับมือสภาพเศรษฐกิจ

“ณัฐธิดา” กล่าวด้วยว่า หนึ่งในความท้าทายของการทำธุรกิจในปัจจุบัน คือ สภาพเศรษฐกิจ ที่มีผลกับการตัดสินใจลงทุนของลูกค้า และการดำเนินงานของบริษัทด้วย โดยพบว่าลูกค้าลงทุนน้อยลง

“เราพยายามบาลานซ์เรื่องยอดและรายได้ด้วยการหาลูกค้าใหม่มาเสริม ส่วนแผน IPO ชะลอไป เพราะตลาดหุ้นไทยยังไม่ค่อยสู้ดีนัก ตอนนี้เป้าหมายบัซซี่บีส์ คือ สร้างการเติบโตไปพร้อมกับการสร้างกำไร ส่วนการขยายตลาดต่างประเทศ มีความท้าทายเรื่องพาร์ตเนอร์และคนเราต้องการคนที่ใจสู้ พร้อมบุกตลาดไปพร้อม ๆ กับเรา”