BITE SIZE : ปิดตำนาน Robinhood แพลตฟอร์มดีลิเวอรี่สัญชาติไทย

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

ข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หนีไม่พ้นการประกาศปิดตัว แอปพลิเคชั่น Robinhood แพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ จาก SCBX ที่ให้บริการมานานกว่า 4 ปี ซึ่งจะปิดตัวลง ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

กลายเป็นความเสียดายของผู้ใช้งานที่เป็นขาประจำ และสถานการณ์ของตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ ก็เป็นที่จับตามองไปด้วยว่า จะน่าเป็นห่วงขนาดไหน

เหตุผลอะไรที่ทำให้ SCBX ตัดสินใจปิดตัว Robinhood และผลประกอบการเป็นอย่างไร

Prachachat BITE SIZE สรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้น

ย้อนจุดเริ่มต้น Robinhood

ชื่อของ Robinhood ปรากฏตามหน้าสื่อครั้งแรก ในช่วงมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงแรกของการแพร่ระบาด โรคโควิด-19

Advertisment

Robinhood เกิดขึ้นจากความตั้งใจของเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ที่อยากสร้างแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสการขายให้ร้านอาหารเล็ก ๆ และช่วยให้คนไทยเข้าถึงอาหารในราคาที่ใกล้เคียงกับการไปซื้อหรือทานที่หน้าร้าน และเป็นหนึ่งในการ CSR ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือธุรกิจ

โดย Robinhood ชูจุดเด่น คือ การไม่เก็บค่า GP หรือ Gross Profit ทำให้ร้านอาหารไม่ต้องบวกค่าอาหารเพิ่มหรือลดปริมาณอาหาร ไม่เก็บค่าสมัคร และจ่ายค่าของ ค่าบริการ ผ่านดิจิทัลทั้งหมด ไม่รับเงินสด เงินเข้าร้านไวขึ้น ไรเดอร์ไม่ต้องออกเงินก่อนด้วย

หลังจากเปิดให้บริการครบ 1 ปี เมื่อปี 2564 แอปพลิเคชั่น Robinhood มีลูกค้าลงทะเบียนใช้งานกว่า 2.3 ล้านคน จำนวนร้านอาหารบนแพลตฟอร์มกว่า 164,000 ร้าน และมีไรเดอร์ให้บริการรับ-ส่งอาหารกว่า 26,000 คน

ถัดมา Robinhood ขยายการให้บริการมากขึ้น มีทั้ง Mart บริการสั่งของจากร้านค้า ตลาดสด Travel บริการจองตั๋ว จองที่พัก Express บริการส่งของ ส่งพัสดุ และ Ride บริการเรียกรถ จนเมื่อกรกฎาคม 2566 ระบุว่า มี Active User ราว 3.7 ล้านราย

Advertisment

รายได้ 4 ปี ขาดทุน 5.5 พันล้านบาท

แม้แพลตฟอร์ม Robinhood จะได้รับการตอบรับที่ดี มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น ตลอดกว่า 4 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยผลประกอบการที่ยังขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้การเดินทางของแพลตฟอร์มนี้ ต้องถึงเวลาอวสาน

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการตัดสินใจปิดตัว แอปพลิเคชั่น Robinhood ระบุเหตุผลว่า แอปพลิเคชั่น Robinhood ได้ดำเนินกิจการตามภารกิจในการช่วยเหลือสังคมจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดสำเร็จลุล่วงด้วยดีตามเจตนารมณ์เรียบร้อยแล้ว

โดย Robinhood จะยุติการให้บริการตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป ทั้งฝั่งลูกค้า ร้านค้า ไรเดอร์ และไดรเวอร์

SCBX ยังระบุเพิ่มเติมว่า การยุติการให้บริการดังกล่าวเป็นไปตามกรอบการบริหารเงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของกลุ่ม SCBX

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ผลประกอบการของ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ผู้ให้บริการแอป Robinhood ปี 2563-2566 ขาดทุนรวมกันกว่า 5.5 พันล้านบาท

โดยผลประกอบการของบริษัทในช่วงปี 2563-2566 เป็นดังนี้

ปี 2563

  • รายได้รวม 81,549.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 88,366,622.00 บาท
  • ขาดทุนสุทธิ 87,829,231.00 บาท

ปี 2564

  • รายได้รวม 15,788,999.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 1,353,622,394.00 บาท
  • ขาดทุนสุทธิ 1,335,375,337.00 บาท

ปี 2565

  • รายได้รวม 538,245,295.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 2,522,070,078.00 บาท
  • ขาดทุนสุทธิ 1,986,837,776.00 บาท

ปี 2566

  • รายได้รวม 724,446,267.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 2,880,115,034.00 บาท
  • ขาดทุนสุทธิ 2,155,727,184.00 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินว่า การยุติการให้บริการแอปพลิเคชั่น Robinhood คาดว่าจะช่วยลดผลขาดทุนให้กับ SCBX ได้ประมาณ 1 พันล้านบาท โดยฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นบวกต่อการยุติการให้บริการ Robinhood เนื่องจากจะช่วยลดผลขาดทุนได้ แต่คาดว่าจะมีผลต่อกำไรปี 2567 เพียง 2.1% จากตัวเลขกำไรซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 47,000 ล้านบาท

ตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ ยังหดตัว

การปิดตัวของ Robinhood กลายเป็นคำถามกลับไปที่ภาพรวมของตลาดแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ ว่าสถานการณ์จากนี้ไป จะน่าห่วงขนาดไหน

หากดูผลประกอบการ ทั้ง 4 แพลตฟอร์ม คือ แกร็บ ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า และโรบินฮู้ด พบว่าส่วนใหญ่ยังขาดทุน ยกเว้นแกร็บ ที่กลับมามีกำไรในช่วง 2 ปีล่าสุด

ขณะที่ข้อมูลจาก Momentum Works ปี 2023 ระบุว่า ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ Grab ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่ง ขณะที่ Robinhood มีส่วนแบ่งอยู่ที่ราว 3%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาด Food Delivery จะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือหดตัว 1.0% จากปี 2566 แม้ค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้ง ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.8% จากค่าเฉลี่ยในปี 2566 หรือมีราคาเฉลี่ยประมาณ 185 บาทต่อครั้งของการสั่ง

โดยในปี 2567 คาดว่าปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น ลดลงประมาณ 3.7% จากปี 2566 จากการที่คนไทยเริ่มออกไปกินข้าวนอกบ้านมากขึ้น และราคาอาหารในแอปปรับตัวสูงขึ้น จากต้นทุนสะสมที่สูง ทำให้กระทบต่อปริมาณการสั่ง

รวมถึง การอัดโปรโมชั่นที่ผู้ให้บริการแต่ละรายเบาลงจากก่อนหน้านี้ และแพลตฟอร์มหันมาเน้นสร้างกำไรมากขึ้น หลังส่วนใหญ่บันทึกขาดทุนสะสม

แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่าช่องทางนี้ยังสำคัญ เนื่องจากยังมีผู้บริโภคจำนวนมากยังคงมีการใช้บริการ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จำเป็น เช่น เวลาเร่งด่วน หรือช่วง Work from Home

แม้ธุรกิจจะได้รับผลตอบรับที่ดี มีผู้ใช้งานจำนวนมาก แต่ก็เป็นสัจธรรมของธุรกิจ ที่ต้องมีการทบทวน ปรับปรุง เพื่อให้ธุรกิจนั้น ๆ เดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน

ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.61 ได้ที่ https://youtu.be/I1vg4vn6w0g

เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ