เปิดประวัติโรบินฮู้ด Robinhood ดีลิเวอรี่สัญชาติไทย ประกาศปิดตัว

Robinhood App โรบินฮู้ด แอปพลิเคชั่น

เปิดประวัติโรบินฮู้ด Robinhood แพลตฟอร์มดีลิเวอรี่สัญชาติไทย ในเครือ SCBX ที่เกิดขึ้นมาเพื่อคนตัวเล็ก ตัดสินใจประกาศปิดตัว หลังเปิดให้บริการมากว่า 4 ปี

กลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เมื่อบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติให้ยุติการให้บริการแอปพลิเคชั่น Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (PPV) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม SCBX ที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 100% โดยจะยุติการให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

หากย้อนเรื่องราวกลับไปยังจุดเริ่มต้นของแอปพลิเคชั่นโรบินฮู้ด (Robinhood) นับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน นับว่าน่าสนใจไม่น้อย ทั้งในแง่ที่มาที่ไป การเริ่มต้นของแอปพลิเคชั่นนี้ และผลประกอบการที่เกิดขึ้นตลอดการให้บริการ

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนไปสำรวจเส้นทางของแอปพลิเคชั่นโรบินฮู้ด (Robinhood) ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้น Robinhood

ชื่อของ Robinhood ปรากฏตามหน้าสื่อครั้งแรกในช่วงมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงแรกของการแพร่ระบาด โรคโควิด-19 โดยอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร SCBX ซึ่งขณะนั้นยังมี “ธนาคารไทยพาณิชย์” เป็นยานแม่ เปิดเผยว่า ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ธนาคารจะเปิดตัวแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่สัญชาติไทย ภายใต้ชื่อ “Robinhood”

Advertisment

โดยจะดำเนินการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่ตั้งขึ้น โดยมีงบฯการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี

นายอาทิตย์กล่าวอีกว่า แอปใหม่นี้มีเป้าหมายต้องการให้ทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้สั่งอาหาร ร้านอาหาร และผู้ขับขี่ ได้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยธนาคารจะไม่เก็บค่าจีพี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่ต้องเจอเมื่อนำร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งค่าจีพีนับเป็น Pain Point หลักของผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กในปัจจุบันที่มีการเรียกเก็บราว 30-35%

นอกจากนี้ ธนาคารมีเป้าหมายเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า และเป็นโครงการ CSR กับสังคม และหากธนาคารสามารถสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าเข้ามาใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Engagement) และในอนาคตสามารถต่อยอดผ่านการปล่อยสินเชื่อหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่เพียงไฟแนนซ์เท่านั้น

ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ในไทยปัจจุบันเป็นบริษัทต่างชาติกว่า 70% โดยมีการใช้งานฟู้ดดีลิเวอรี่สูงถึง 200,000 ครั้งต่อวัน แต่มากกว่า 50% เป็นการสั่งอาหารจากเชนเรสเตอรองต์รายใหญ่ จึงมีร้านเล็กกว่า 200,000 แห่งยังไม่ได้เข้าร่วมแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่

Advertisment

ทำให้มีแนวคิดและเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มตั้งแต่ เม.ย.ที่ผ่านมา ใช้เวลาเพียง 2 เดือนก่อนเปิดให้พนักงานทดลองระบบใน มิ.ย. พร้อมศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคไปพร้อมกัน

“ผู้บริโภคคุ้นเคยกับแอปฟู้ดดีลิเวอรี่เดิมที่มีอยู่ จึงถือเป็นโจทย์สำคัญให้ต้องพัฒนาโรบินฮู้ดให้ดีขึ้นไปอีก ต้องสะดวกและใช้ง่าย”

นอกจากจุดขายต่างไปจากรายอื่นด้วยการไม่เก็บค่าจีพีจากร้านค้าแล้ว ยังกำหนดด้วยว่าร้านต้องได้รับเงินภายใน 1 ชั่วโมง หลังอาหารส่งถึงมือลูกค้า เพื่อช่วยให้ร้านค้ามีสภาพคล่องหมุนเวียนในธุรกิจ

นอกจากการได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนหลักร้อยล้านบาทต่อปีแล้ว ยังมีพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์กว่า 500 สาขาในช่วงนั้น เพื่อให้คำปรึกษาสำหรับร้านค้าที่ไม่ชำนาญในการใช้แอปพลิเคชั่นและสร้างคอนเทนต์ ฝั่งลูกค้าหรือผู้บริโภคก็จะมีทั้ง AI ช่วยแนะนำร้านอาหารให้ตรงความชอบของลูกค้า

และหลังจากเปิดให้บริการครบ 1 ปี เมื่อปี 2564 แอปพลิเคชั่น Robinhood มีลูกค้าลงทะเบียนใช้งานกว่า 2.3 ล้านคน จำนวนร้านอาหารบนแพลตฟอร์มกว่า 164,000 ร้าน และมีไรเดอร์ให้บริการรับ-ส่งอาหารกว่า 26,000 คน

เติมจิ๊กซอว์บริการใหม่

หลังจากเริ่มต้นให้บริการสั่งอาหาร ซึ่งเป็นบริการแรกของ Robinhood ตั้งแต่เปิดตัว ก็ได้ทยอยเพิ่มบริการใหม่ ๆ ทั้งบริการสั่งสินค้าจากร้านค้า ตลาดสด (Mart) บริการจองตั๋ว จองที่พัก (Travel) บริการส่งของ ส่งพัสดุ (Express) และบริการเรียกรถโดยสาร (Ride)

ข้อมูลเมื่อกรกฎาคม 2566 ระบุว่า มีฐานผู้ใช้ (Active User) ราว 3.7 ล้านราย ช่วยให้ร้านค้าต่าง ๆ กว่า 3 แสนร้านค้ามีรายได้ 17,200 หมื่นล้านบาท ทำให้ไรเดอร์กว่า 3 หมื่นคน มีรายได้รวมกันกว่า 3,600 ล้านบาท และส่งอาหารให้ลูกค้าแล้วมากกว่า 90 ล้านมื้อ เฉลี่ย 100,000 ออร์เดอร์ต่อวัน

ขณะที่บริการอื่น ๆ มีข้อมูลน่าสนใจ ดังนี้

  • บริการ Robinhood Travel มีโรงแรมที่พักขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มกว่า 2 หมื่นแห่ง จองตั๋วเครื่องบินได้จากสายการบินกว่า 170 สายการบิน
  • บริการ Robinhood Mart มีร้านในระบบกว่า 1.3 หมื่นแห่ง

ขณะที่จุดเด่นสำคัญ ยังคงเป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้งาน หรือค่า GP และค่าคอมมิชชั่น ที่ถูกกว่าแพลตฟอร์มเจ้าอื่น ๆ ในท้องตลาด และการรับชำระผ่านช่องทางดิจิทัลทั้งหมด ไม่รับเป็นเงินสด

ตัดสินใจปิดภารกิจ

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการตัดสินใจปิดตัวแอปพลิเคชั่น Robinhood ระบุว่า “คณะกรรมการบริษัทมีมติให้ยุติการให้บริการแอปพลิเคชั่น Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (PPV) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม SCBX ที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 100% โดยจะยุติการให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

หลังจากแอปพลิเคชั่น Robinhood ได้ดำเนินกิจการตามภารกิจในการช่วยเหลือสังคมจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดสำเร็จลุล่วงด้วยดี ตามเจตนารมณ์เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ การยุติการให้บริการดังกล่าวเป็นไปตามกรอบการบริหารเงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของกลุ่ม SCBX ในการมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจตามภารกิจเพื่อเป็นกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำ”

รายได้ 4 ปีล่าสุด แอป Robinhood

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ประกอบธุรกิจ การพัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ทุนจดทะเบียน 8,300 ล้านบาท

โดยผลประกอบการของบริษัทในช่วงปี 2563-2566 เป็นดังนี้

ปี 2563

  • รายได้รวม 81,549.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 88,366,622.00 บาท
  • ขาดทุนสุทธิ 87,829,231.00 บาท

ปี 2564

  • รายได้รวม 15,788,999.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 1,353,622,394.00 บาท
  • ขาดทุนสุทธิ 1,335,375,337.00 บาท

ปี 2565

  • รายได้รวม 538,245,295.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 2,522,070,078.00 บาท
  • ขาดทุนสุทธิ 1,986,837,776.00 บาท

ปี 2566

  • รายได้รวม 724,446,267.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 2,880,115,034.00 บาท
  • ขาดทุนสุทธิ 2,155,727,184.00 บาท

นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินว่า การยุติการให้บริการแอปพลิเคชั่น Robinhood คาดว่าจะช่วยลดผลขาดทุนให้กับ SCB ได้ประมาณ 1 พันล้านบาท

โดยฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นบวกต่อการยุติการให้บริการ Robinhood เนื่องจากจะช่วยลดผลขาดทุนได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีผลต่อกำไรปี 2567 ที่ทางฝ่ายคาดไว้ 47,000 ล้านบาท ประมาณ 2.1% เท่านั้น

ไทม์ไลน์ปิดบริการ 31 กรกฎาคมนี้

สำหรับการปิดให้บริการแอปพลิเคชั่น Robinhood ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 นั้น เฟซบุ๊กแฟนเพจ Robinhood Delivery แจ้งเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การยุติการให้บริการแอปพลิเคชั่น Robinhood เป็นไปอย่างราบรื่น และส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อลูกค้าผู้ใช้งาน ร้านค้า ไรเดอร์ ผู้ขับรถยนต์โดยสาร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โปรดทราบถึงข้อมูลสำคัญ ดังนี้

  • ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น.เป็นต้นไป ลูกค้าจะไม่สามารถใช้บริการแอปพลิเคชั่น Robinhood ได้เป็นการถาวร
  • ผู้ประกอบการร้านค้า ไรเดอร์ ผู้ขับรถยนต์โดยสาร สามารถใช้บริการแอปพลิเคชั่น Robinhood Shop, Robinhood Rider, Robinhood Driver เพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น.

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมติดต่อ Robinhood Call Center โทร.0-2777-7564