BITE SIZE : รู้จัก Must Have-Must Carry กฏเจ้าปัญหาที่คอกีฬาต้องรู้

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

ช่วงเวลานี้ นับว่าเป็นช่วงเวลาความสุขของเหล่าคอกีฬา เพราะรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา ต่อคิวรอกันจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวอลเลย์บอล เนชั่นส์ลีก ฟุตบอลยูโร จนถึงโอลิมปิก 2024 ที่ใกล้จะเปิดฉากการแข่งขันในเดือนหน้า และโปรแกรมกีฬาที่เตรียมกลับมาเปิดฤดูกาลใหม่ อย่าง การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

ทุกครั้งที่มีการพูดถึงการถ่ายทอดสดรายการกีฬาใหญ่ ๆ ของโลก มักจะมี 2 คำ ที่ได้ยินกันบ่อย คือ Must Have และ Must Carry

แล้ว 2 คำนี้เกี่ยวข้องกับถ่ายทอดสดกีฬาอย่างไร เป็นเรื่องดีหรือกระทบต่อการถ่ายทอดสดแค่ไหน

Prachachat BITE SIZE เล่าให้ฟัง

รู้จัก “Must Have-Must Carry”

กฎ Must Have หรือ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 กำหนดให้ 7 รายการถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญ ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการฟรีทีวีเท่านั้น ดังนี้

Advertisment
  • การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final)
  • การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (SEA Games)
  • การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games)
  • การแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games)
  • การแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games)
  • การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games)
  • การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก (Paralympic Games)

เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป

ขณะที่กฎ Must Carry หรือ หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป เป็นการกำหนดให้แพลตฟอร์มบริการโทรทัศน์ทุกรายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. นำช่องฟรีทีวี ไปออกอากาศในทุกช่องทาง ทั้งทางเสาอากาศ จานดาวเทียม เคเบิลทีวี และช่องทางออนไลน์ โดยต้องออกอากาศต่อเนื่องตามผังรายการของแต่ละสถานี ไม่มีจอดำเกิดขึ้นในบางรายการ

ถ้าอธิบายแบบง่าย ๆ สมมุติคุณผู้ชมเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์โอลิมปิก ก็ต้องซื้อมาออนแอร์ทางฟรีทีวีด้วย ตามกฎ Must Have ไม่สามารถเลือกถ่ายเฉพาะช่องทางดาวเทียม หรือ Pay TV ได้ และผู้ให้บริการทีวี จะต้องออกอากาศช่องฟรีทีวีตลอดทั้งรายการ และไม่มีจอดำ ตามกฎ Must Carry

Advertisment

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการทีวี ต้องเข้ารหัสสัญญาณให้ออกอากาศได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านลิขสิทธิ์

ได้ใจคนดู แต่ธุรกิจไม่เวิร์ก

กฎ Must Have-Must Carry เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555 จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับการถ่ายทอดสด ฟุตบอลยูโร 2012 ซึ่งเจอทั้งปัญหาจอดำ และเรื่องทางการค้า ซึ่งกฎดังกล่าว เปรียบเหมือนเป็นหลักประกันให้คนไทยได้ชมกีฬาสดได้ฟรี แต่ภาพความเป็นจริงในทางธุรกิจ ยังมีปัญหาเกิดขึ้นต่อเนื่อง

ตั้งแต่ฟุตบอลโลก ปี 2014 กสทช.ต้องควักเงินกว่า 400 ล้านบาทจ่ายให้อาร์เอส เพื่อให้ชมทางฟรีทีวีได้ทุกนัด และเป็นค่าเสียโอกาสทางธุรกิจของผู้ถือลิขสิทธิ์

จนถึงฟุตบอลโลก 2 รอบล่าสุด คือ 2018 และ 2022 ที่ไม่มีเอกชนเจ้าไหนซื้อลิขสิทธิ์เลย จนภาครัฐต้องติดต่อภาคเอกชนไปดีลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้

และเมื่อครั้งฟุตบอลโลก 2022 กสทช.ต้องนำเงินจาก กองทุน กทปส. 600 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ร่วมกับเอกชน และเกิดปัญหาบานปลายตามมา

ถอดบทเรียน 2 Must

การเกิดขึ้นของกฎ 2 Must ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นการตั้งคำถามของผู้คนในอุตสาหกรรมโทรทัศน์และอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ถึงความเหมาะสมของตัวกฎหมาย กับภาพความเป็นจริงในการแข่งขันทางธุรกิจ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ถอดบทเรียน เมื่อครั้งฟุตบอลโลก 2022 ระบุว่า ประกาศดังกล่าวทำให้เพย์ทีวีขาดแรงจูงใจในการซื้อลิขสิทธิ์ เพราะค่าลิขสิทธิ์จะสูงขึ้นกว่าปกติ จากการที่ต้องซื้อสิทธิออกอากาศให้ครอบคลุมฟรีทีวีด้วย และทำให้ภาคธุรกิจ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน จากปัจจัยด้านรายได้สมาชิก Pay TV ลดลง และรายได้โฆษณาที่อาจได้กลับมาไม่คุ้มค่า

ก่อนหน้านี้ วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของ “ศักดิพัฒน์ ธานี” เมื่อปี 2559 มีการศึกษาว่า ในต่างประเทศ มีกฎดังกล่าวด้วย แต่สอดคล้องไปกับหลักการพื้นฐานด้านสิทธิทางการเมือง กฎหมาย และการค้า

ขณะที่ประเทศไทย มีข้อกำหนดที่ส่งผลกระทบต่อการถ่ายทอดรายการกีฬาของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เป็นอย่างมาก และยังมีประเด็นปัญหาในทางกฎหมายในหลายประเด็น จนถึงปัญหาความชัดเจน และความสอดคล้อง ทั้งสภาพตลาด และบริบทการกำหนดเกณฑ์

ผู้ศึกษา แนะนำว่า ควรทบทวนและปรับปรุงประกาศกฎ Must Carry และควรยกเลิกกฎ Must Have แล้วใช้มาตรการทางกฎหมายอื่น ๆ แทน

ฝั่ง กสทช.มีการประชุมบอร์ดเมื่อเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ลงมติเป็นเอกฉันท์ 7 เสียง เห็นควรให้ถอนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ออกจากประกาศกฎ Must Have ส่วนการมีผลนั้น มีผลทันที โดยอยู่ในระหว่างการเตรียมการเพื่อรอการประกาศชัดเจน

เหตุผลหลักของการถอดฟุตบอลโลก ออกจากกฎ Must Have คือ เป็นรายการที่มีมูลค่าทางการตลาดชัดเจน และเป็นประเภทกีฬาที่มีปัญหามาโดยตลอด รวมถึงการแข่งขัน การสร้างรายได้จากลิขสิทธิ์กีฬาที่เปลี่ยนไปจากอดีต และปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

เท่ากับว่า ฟุตบอลโลก จะไม่ถูกบังคับตามกฎ Must Have แล้ว เข้าสู่กลไกการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์ตามปกติ ส่วนกีฬาอีก 6 ประเภทที่เหลือ ยังคงต้องมีการถ่ายสดทางฟรีทีวีด้วยเช่นเดิม

แม้กฎดังกล่าว จะช่วยให้คนไทยสามารถชมรายการกีฬาสำคัญทั่วโลกได้อย่างทั่วถึง แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ต้องได้รับการทบทวน เพื่อให้เป็นไปตามสภาพจริงของตลาด และไม่สร้างผลกระทบอื่น ๆ ตามมาในอนาคต

ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.60 ได้ที่ https://youtu.be/46nvxYrRSEY

เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ