เปิด 4 กฎเหล็กสร้าง AI ด้วยความรักฉบับ “AIS”

AIS

ชวนสำรวจ 4 กฎเหล็ก สร้าง AI อย่างมีธรรมาภิบาลฉบับ “AIS” หลังพลิกโฉมองค์กรสู่ “Cognitive Telco” ประยุกต์ใช้ AI หลากหลายด้าน

วันที่ 21 มิถุนายน 2567 นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS กล่าวในงานสัมมนา “The Power of AI” ในหัวข้อ “AI Governance” จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า AI เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยการทำงานในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น การเงิน ยานยนต์ สื่อและโฆษณา รวมถึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดต้นทุนการทำงานได้มหาศาล ถ้ามองว่ายุคก่อนหรือหลังมีกูเกิล (Google) ต่างกันอย่างไร ยุคนี้ก็ให้ความรู้สึกไม่ต่างกัน

“สิ่งที่ AIS คิดมาตลอด คือธุรกิจในปัจจุบันต้องมี AI เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ แค่ Digitalization ไม่เพียงพอแล้ว ทำให้ AIS ต้องก้าวสู่การเป็น Cognitive Telco มีการนำ AI มาใช้อย่างหลากหลาย“

ตัวอย่างการนำ AI มาใช้ของ AIS เช่น วิดีโอโฆษณาของ AIS Fibre ที่ในอดีตใช้คนทำ 12 คน แต่หลังจากมี AI ใช้คนทำเพียง 3 คน, การนำเสนอสิทธิพิเศษและบริการสำหรับลูกค้าแต่ละราย และ ACARE หรือ AI Voice Bot สำหรับการบริการลูกค้า ที่หลังจากทำ Proof of Concept (POC) พบว่าค่าใช้จ่ายของการใช้วอยซ์บอตอยู่ที่ 68% และรองรับการใช้งาน 60 สาย/ชั่วโมง ส่วนการใช้คนมีค่าใช้จ่าย 70% รองรับการใช้งานได้ 50 สาย/ชั่วโมง

Advertisment

นายอราคินกล่าวต่อว่า นอกจากการนำ AI มาใช้งาน AIS ยังให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงและยั่งยืน เพื่อสร้างความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์รายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้าง AI ด้วย “ความรัก” หรือการมี “ธรรมาภิบาล” (Governance) ที่ดี

“จริง ๆ แล้ว ‘ธรรมาภิบาล’ เป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ก็เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งในมุมของ AIS พยายามสร้างแรงบันดาลใจ หรือจุดมุ่งหมายในการพัฒนา AI อย่างมีธรรมาภิบาลผ่านกฎทั้งหมด 4 ข้อ“

โดยรายละเอียดของกฎการสร้าง AI ด้วยความรักในแบบฉบับของ AIS ทั้งหมด 4 ข้อ เป็นดังนี้

กฎข้อที่ 0 : หุ่นยนต์ต้องไม่ทำให้มนุษยชาติตกอยู่ในอันตราย

Advertisment

เมื่อองค์กรนำ AI มาใช้ในการทำงานด้านต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงการดูแลสังคมด้วย เช่น AI เป็นเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานมากจะใช้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร หรือการใช้ AI จะทำให้เกิดการแทนที่ตำแหน่งงาน (Job Displacement) ขั้นรุนแรงหรือเปล่า

กฎข้อที่ 1 : หุ่นยนต์ต้องไม่ทำร้าย หรือเพิกเฉยต่อมนุษย์ที่กำลังตกอยู่ในอันตราย

AI ต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ในวันที่เครือข่ายมีปัญหา และต้องเลือกคนที่สามารถใช้เครือข่ายได้ในขณะนั้นจะเลือกใครด้วยการจัดลำดับความสำคัญผ่านสถานการณ์ที่ผู้ใช้งานกำลังเผชิญ

กฎข้อที่ 2 : หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์

AIS พัฒนา AI Voice Bot หรือแชตบอต เพื่อให้บริการลูกค้า โดยพัฒนา AI ให้ทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ แต่เมื่อ AI ไม่สามารถตัดสินใจในสถานการณ์นั้นได้ คนต้องสามารถเข้าจัดการได้ทันที (AI Human Centric)

กฎข้อที่ 3 : หุ่นยนต์ต้องมีความสามารถในการปกป้องตนเอง

AI ต้องมีความสามารถในการปกป้ององค์กรจากการโจมตีทางไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ