กสทช. ไม่สามารถกำกับเอไอโดยตรง แต่สร้างโอกาสในการเข้าถึงเอไอได้

ศ.คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์
ศ.คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์

ประธาน กสทช. เผยเอไอเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะจากมุมมองการแพทย์ เอไอช่วยคนได้มากได้ไว ยิ่งการใช้เอไอมากขึ้น โครงสร้างโทรคมนาคมยิ่งสำคัญ แม้ กสทช. ไม่สามารถกำกับดูแลเอไอได้โดยตรง แต่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ให้คนเข้าถึงเอไออย่างทั่วถึงและเท่าเทียมได้

วันที่ 21 มิถุนายน 2567 ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถา เรื่อง AI Thailand Opportunity ในงานสัมมนา PRACHACHAT BUSINESS FORUM : The Power of AI #เกมใหม่โลกเปลี่ยน จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ซึ่งได้พูดถึงความสำคัญของเทคโนโลยีเอไอ จากมุมมองของตนในฐานะแพทย์ โอกาสต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ และอันตรายที่เอไอก่อ สุดท้ายคือการกำกับดูแลเอไอในภาคส่วนของกิจการโทรคมนาคม

นพ.สรณกล่าวว่า ในฐานะที่ตัวเองเป็นแพทย์เก่าแล้วก็สนใจเรื่องนี้ โดยได้ยกกรณีศึกษาหุ่นยนต์ที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านอาหารให้กับมนุษย์ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีเอไอโรโบติกส์ มีความเป็น Humanoid Intelligence เพราะว่ามันมีสติ แล้วมันก็มีวิชั่น มีเหตุผลเหมือนเรา

และเรื่องการที่เอไอสามารถ Generative ทำไมเขาใช้คำว่า Generate ทำไมเขาไม่ใช้คำว่า Creative เพราะตอนนี้ยังเป็นเพียงการใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ ซึ่งถูกเทรนด้วยภาษาจากแหล่งภาษาอังกฤษ เช่น จากวอชิงตันโพสต์ จากนิวยอร์กไทมส์ เป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อไปจะเป็น VLAM (Vision-Language-Action Model) เพื่อจะผลักดันให้ข้อมูลประมวลผลในโรบอตเกิดปฏิสัมพันธ์กับโลกกายภาพ

Advertisment

“พูดถึงระดับการใช้งานเอไอ ในระดับหนึ่ง ล่างสุดที่เราอยู่ เช่น สั่งให้อูเบอร์มารับเราให้กลับไปส่งอาหารเรา ระดับสอง ตอนนี้เรากำลังจะมีเยอะขึ้น คือ เอไอซึ่งสามารถทำงานที่มนุษย์ทำได้แล้ว ระดับที่สาม คือ เอไอซึ่งจะใช้คำว่ามาปกครองมนุษย์รึเปล่าอีกอันในอนาคตซึ่งเราไม่รู้ นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็น”

“ผมได้สัมผัสมาตั้งแต่ผมเป็นหนุ่มก็คือเฮลท์แคร์ ในฐานะที่ตนเองเป็นนะครับเป็นแพทย์ เอไอในเมดิซีนมีมานานแล้ว เห็นได้ชัดในช่วงโควิด-19 ในการเอกซเรย์ อย่างเช่นในการวิเคราะห์ประมวลผลภาพเอกซเรย์ปอดเพื่อจำแนก ลักษณะที่เสี่ยง หรือในการตรวจเรตินาเพื่อรักษาด้านจักษุแพทย์ ก็มีภาพตากว่า 5 ล้านภาพช่วยเทรนด์และจำแนกแทนหมอ และอื่น ๆ อีกมาก

ในเรื่องของความเสี่ยงนั้น แน่นอนว่าเอไอมีข้อจำกัดในเรื่องของการ “ตอแหล” เมื่อเจอคำถามยาก มีอคติ และเหตุผลที่เอไอให้นั้นไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นเหตุผลแบบมนุษย์ ซึ่งจะต้องพิจารณาควบคุมไม่ให้อันตราย ให้เท่าทันการใช้เอไอ

นอกจากการเป็นหมอ ส่วนในบริบทของผู้กำกับดูแลโทรคมนาคม ปัจจุบันการสื่อสารไม่ได้อาศัยเพียงแค่เสียงและข้อความเท่านั้น แต่มีลักษณะเป็น Data to Data ซึ่งต้องพึ่งพา Connectivity และ Community ที่เป็นการรวมเอาทุกอย่างตั้งแต่โครงข่าย 5G ดาวเทียมวงโคจรต่ำ WiFi6 และอื่น ๆ ยิ่งมีการใช้เอไอที่ต้องเชื่อมต่อข้อมูลมากขึ้น ยิ่งเชื่อมโยงโทรคมนาคมทั้งหมดไว้ด้วยกัน

Advertisment

ปัจจุบันเรามีเลขหมายโทรศัพท์อยู่ราว 120 เลขหมาย และคลื่นความถี่ 4G ครอบคลุม 98% และ 5G 83% การใช้งานในยุคนี้เราเห็นแนวโน้มการใช้งานถ่ายโอนดาต้ามากขึ้น ความหนาแน่นบนเครือข่ายของเราไม่ด้อยกว่าใครในโลกเลย (ประมาณการว่าคนไทยจะใช้งานดาต้า 1,156 GB ต่อคนต่อปีในปี 2029)

ดังนั้นบทบาทที่เราจะนำเอไอมาใช้งานการกำกับดูแลโทรคมนาคม ก็มีตั้งแต่การใช้เพื่อออปติไมซ์โครงข่าย คาดการณ์การซ่อมบำรุง ทำระบบปกป้อง Fraud Detection หรือการตรวจสอบบริการ และอื่น ๆ ล้วนต้องหาวิธีนำมาใช้ เพราะตอนนี้เราไม่สามารถหาคนมาช่วยได้แล้ว เราต้องหาเครื่องมืออื่น ๆ มาช่วย

ในภาคเอกชนเราก็ได้เห็นการกำกับดูแลตัวเองอย่างเข้มข้น แม้แต่ในภาคองค์กรทางศาสนายังให้ความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลเอไอ เพราะมีความกังวลว่าเอไอจะทำให้เกิดการใช้ทางที่ผิดที่อันตราย

กสทช. เราเองมีศูนย์ USO net และร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ทำให้ทุกคนทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้วทั้งหมด ต่อไปคือการทำให้ทุกคนเข้าถึงเอไอได้ โดยเฉพาะในทางการแพทย์ ในตอนนี้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ก็ได้เริ่มนำเครื่องตรวจตาที่มีข้อมูลจากแมชีนเลิร์นนิ่งผ่านโครงการ USO ไปบ้างแล้ว ต่อไปต้องให้ทุกคนเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้

“แม้ กสทช.จะไม่ได้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเอไอโดยตรง แต่ช่วยกำหนดยุทธศาสตร์ให้ทุกคนเข้าถึงการใช้งานเอไอได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ผ่านระบบโทรคมนาคม ผ่านระบบโทรทัศน์ กระจายเสียง สัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และป้องกันการใช้เอไอของคนร้ายที่จะมากลืนสังคม”