อินเทอร์เน็ตจากฟ้าของ Starlink ในไทย ไปถึงไหนแล้ว

ผลการทดลองนำร่องดาวเทียม Starlink ในประเทศไทยไปถึงไหนแล้ว หลัง ม.อ.ใช้ในภารกิจแพทย์ทางไกล ผ่านเรือลำเลียงกลางสมุทรของ ปตท.

วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 อินเทอร์เน็ตจากฟ้า โดยโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ เรียกว่าอาจเป็นทางเลือกใหม่ที่เข้ามาท้าทายโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม แม้ปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างสูง แต่หากมีการแข่งขันมากขึ้น และดาวเทียมถูกส่งขึ้นครอบคลุมทั่วโลก ย่อมส่งผลให้มีการพัฒนาและนำไปใช้อย่างก้าวกระโดด

ในปี 2567 นี้ อุตสาหกรรมอวกาศและดาวเทียมก็มีความเคลื่อนไหวมากพอควร ต้นปี บมจ.ไทยคม ยักษ์อุตสาหกรรมดาวเทียมได้ร่วมมือกับ Global Star ตั้งสถานีภาคพื้นในไทย ปล่อยสัญญาณแบบ Narrow Band ซึ่งเหมาะกับการใช้ในอุปกรณ์ไอโอทีขนาดเล็ก ขณะที่ล่าสุด คือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ NT จับมือ OneWeb ได้รับอนุญาตให้ปล่อยสัญญาณ Broadband หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงลงมาในประเทศได้แล้ว

แต่จริง ๆ แล้วคนที่มาก่อนใคร คือ Starlink ของบริษัท SpaceX ที่มีเจ้าของคือมหาเศรษฐีเทคโนโลยีอย่าง “อีลอน มัสก์” ซึ่งให้บริการนำร่องกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับส่งสัญญาณ Broadband ผ่านกลุ่มดาวเทียม Starlink สำหรับการแพทย์ทางไกลที่แรกของไทย ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ความคืบหน้าล่าสุด คือ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) พร้อมด้วยนายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เสน่ห์ สายวงศ์ เข้ารับชมการทดลอง ทดสอบ รับส่งสัญญาณผ่านกลุ่มดาวเทียม Starlink เพื่อใช้สำหรับภารกิจการแพทย์ทางไกล ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

Advertisment

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เปิดเผยว่า การทดลอง ทดสอบครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมประเภทวงโคจรต่ำ (Low-Earth Orbit-LEO) โดยทดสอบการรับส่งสัญญาณจากเรือ SC Winter ซึ่งเดินทางในเส้นทางอ่าวไทย ท่าเรือสงขลา-แหลมบงกช มายังคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.

โดยเป็นการจำลองเหตุการณ์ลูกเรือขอเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ ม.อ. ผ่านระบบ Telemedicine ของคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ทั้งนี้ ในการสาธิตการให้บริการโทรคมนาคมครั้งนี้ พบว่ามีความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลด 166 Mbps ขณะที่ความล่าช้าของอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 32 ms

“การทดลอง ทดสอบครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีของไทย ที่ได้เห็นการใช้งานจริงของดาวเทียม LEO ของ Starlink โดยเฉพาะในการสนับสนุน Telemedicine ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ห่างไกลในการเข้าถึงสาธารณสุขของไทยได้อย่างทั่วถึง สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น” ประธาน กสทช.กล่าว

กลุ่มดาวเทียม Starlink เป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ที่มีระยะห่างจากโลกประมาณ 550 km ในคลื่นความถี่ย่าน ka, ku รองรับการให้บริการทั้ง Internet Broadband, Cellular Backhaul, Direct-to-Cell และ ESIM และให้บริการทั้งในรูปแบบ Business-to-Business หรือ B2B และ Business-to-Customer หรือ B2C ในหลายพื้นที่ อาทิ อเมริกาเหนือ ยุโรป และหลายประเทศในเอเชีย

Advertisment

ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับอนุญาตจาก กสทช. เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 ให้ทำการทดลอง ทดสอบ การใช้คลื่นความถี่ย่าน Ku-Band (Uplink : 14000 14500 MHz/Downlink : 10700 12700 MHz)

โดยใช้ดาวเทียมต่างชาติ กลุ่มดาวเทียม Starlink ข่ายงานดาวเทียม STEAM-1 (NGSO) ของนอร์เวย์ เพื่อทดลองทดสอบรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมเป็นการชั่วคราว สำหรับภารกิจสนับสนุน ค้นหาช่วยเหลือเรือที่ประสบภัย ภารกิจการศึกษาทางไกลในพื้นที่ห่างไกล และภารกิจการแพทย์ทางไกลในพื้นที่ห่างไกลและทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 ถึง 27 ก.ย. 2567 (รวมระยะเวลา 180 วัน)

โอกาสอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

ด้านนายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. เปิดเผยว่า ดาวเทียมดังกล่าวใช้เชื่อมต่อเรือลำเลียงเสบียงของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท SC Group เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่นอกเขตบริการจากเสาสัญญาณโทรคมนาคม สามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ พร้อมกันนั้นยังได้ทดลองการให้บริการทางการแพทย์แก่ลูกเรือและพนักงานประจำเรือระหว่างปฏิบัติการอีกด้วย

โดยระหว่างร่วมทดสอบสัญญาณนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำอุปกรณ์การสอดใช้คลื่นและการแทรกหรือรบกวนของคลื่นของดาวเทียม Starlink พบว่าไม่มีการรบกวนแต่อย่างใด และการทดสอบ การ Down-Upload Speed มีมาตรฐานที่เหนือกว่า LTE (4G) และความเร็วเทียบเท่ากับ Broadband Internet ขาดเพียงการทดสอบ Ubiquitous Usage หรือการใช้ได้อย่างแพร่หลาย

กลุ่มดาวเทียม Starlink ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) ของกลุ่ม SpaceX ซึ่งจะมีประโยชน์มากในพื้นที่ห่างไกลในภาคใต้ที่มีเกาะแก่ง ทะเล หรือป่าเขา โครงข่ายอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดิน หรือโครงข่ายไร้สาย 4G หรือ 5G ไปไม่ถึง โดยเริ่มทดสอบรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในภารกิจค้นหาช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัยและภารกิจอื่น ๆ

นายพชรกล่าวด้วยว่า ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) คือตัวเปลี่ยนผ่านของระบบโทรคมนาคม จาก 5G ไปยังมาตรฐานใหม่ 6G ของ 3GPP (3rd Generation Partnership Project) หรือกลุ่มความร่วมมือมาตรฐานอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในการขับเคลื่อนด้านระบบคมนาคมและสื่อสาร (Mobility) เพราะระบบ 5G ขณะนี้ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงตามที่คาดหวัง