ค่ายมือถือสะเทือน ? ไฟเขียวดาวเทียม OneWeb ปล่อยอินเทอร์เน็ตจากฟ้าได้แล้ว

บอร์ด กสทช.ไฟเขียวไลเซนส์ดาวเทียม OneWeb-NT โคจรข้ามประเทศปล่อยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากฟ้าให้บริการในไทย

วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) มีมติอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการภายในประเทศของโครงข่ายดาวเทียม OneWeb และการเพิ่มบริการโทรคมนาคม และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT)

โดย กสทช.กำหนดเงื่อนไขดังนี้

1.อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (Landing Right) สำหรับโครงข่ายดาวเทียม OneWeb โดยมีระยะเวลา 5 ปี

2.อนุญาตการเพิ่มบริการขายความจุดาวเทียม (Satellite Network Capacity) ตามระยะเวลาใบอนุญาตของ NT (3 สิงหาคม 2568)

Advertisment

3.อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ ให้ไปหารือกรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม ในประเด็นการปรับเงื่อนไขใบอนุญาตให้สอดคล้องกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การอนุญาตดังกล่าวจะทำให้ OneWeb บริษัทดาวเทียมอังกฤษ ซึ่งมีโครงข่ายวงโคจรดาวเทียมต่ำที่สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในประเทศไทยและภูมิภาค CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) ได้

ภายใต้การร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจไทยอย่าง NT ซึ่งได้ก่อสร้างสถานีภาคพื้น (Gateway) รองรับแล้ว ที่อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ปล่อยจากฟ้า ด้วยโครงข่ายดาวเทียมของ OneWeb จะทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ต้องพึ่งพาการลากสายเคเบิล หรือติดตั้งสถานีฐาน Cell Site ภาคพื้นดินเพื่อรับส่งสัญญาณมือถือ

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ให้บริการผ่านดาวเทียมจะมีราคามากน้อยเพียงใด หรือจะให้บริการครอบคลุมประชาชนทั่วไปในวงกว้างได้หรือไม่

Advertisment

ก่อนหน้านี้ พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เปิดเผยว่า ขณะนี้ NT ได้สร้างสถานีสิรินธรเสร็จแล้ว 100% เพื่อจะใช้เป็นสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดิน ทำหน้าที่บริหารจัดการเครือข่ายดาวเทียมของ OneWeb ซึ่งสามารถปล่อยสัญญาณบรอดแบนด์จากฟ้า จากเดิมคาดว่าพร้อมให้บริการในไตรมาส 2/2566 แต่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปีนี้ เนื่องจากต้องขอนำเข้าอุปกรณ์หลายตัว โดยลงทุนไม่ถึงหลักร้อยล้านบาท

คาดว่าถ้าสามารถให้บริการได้ในเฟสแรก จะมีรายได้จากการพัฒนา ติดตั้ง และดำเนินการสิ่งอำนวยความสะดวกสถานีภาคพื้นดินที่ให้บริการกลุ่มดาวเทียม LEO ของ OneWeb อยู่ราว 80-100 ล้านบาท