เผ่าภูมิชูโมเดล SEFI ลุยปลุกศักยภาพเมืองรอง ลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่

เผ่าภูมิ โรจนสกุล
เผ่าภูมิ โรจนสกุล

เผ่าภูมิ รมช.คลัง ชูโมเดล “SEFI” ปลุกศักยภาพ เจาะพื้นที่เมืองรองลงถึงระดับตำบล ด้วยข้อมูล 88 ด้าน 6 มิติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่

วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาเปิดงาน “Thailand’s Vision 2030 and the Cities of Tomorrow” ซึ่งจัดโดย World Bank เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 โดยกล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องการปลุกศักยภาพเมืองรอง

โดยให้ความสำคัญกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ โดยได้จัดทำดัชนีวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamental Index) หรือชื่อย่อว่า “SEFI” ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านเศรษฐกิจ จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ความจำเป็นพื้นฐาน ข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ และข้อมูลปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ

ซึ่งประกอบด้วยเครื่องชี้จำนวน 88 เครื่องชี้ ครอบคลุม 6 มิติ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข การศึกษา เสถียรภาพเศรษฐกิจ ความท้าทายทางทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยสามารถวิเคราะห์ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ได้ถึง “ระดับอำเภอและตำบล” ทำให้สามารถจัดลำดับความเร่งด่วนของปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ได้ ทำให้สามารถวางแผนจัดทำนโยบายการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ SEFI สะท้อนว่าเมืองหลักมีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจสูงกว่าเมืองรองอย่างชัดเจน ค่า SEFI เฉลี่ยเมืองหลักอยู่ที่ 0.081 ในขณะที่เมืองรองเฉลี่ยอยู่ที่ -0.046 ซึ่งโมเดลนี้จะมีตัวเลขในทุกอำเภอ ทุกตำบล ทำให้ SEFI สามารถใช้ในการประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของเมืองรอง เพื่อทำมามาตรการในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นการต่อยอดจุดแข็งและการแก้ไขจุดอ่อนของเมืองรอง เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งเป็นต้นแบบโมเดลของกระทรวงการคลังในการลดความเหลื่อมล้ำแบบตรงจุด ตรงพื้นที่ ตรงความต้องการ

Advertisment