ดอลลาร์แข็งค่า สอดคล้องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้น จับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร

american-dollars

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า สอดคล้องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้น รอจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร ขณะที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 36.77-36.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.84/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 36.77/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/7) ที่ระดับ 36.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบหลายสัปดาห์เหนือระดับ 4.4%

โดยช่วงค่ำวานนี้ (2/7) ทางเอสแอนด์พี โกลบอลได้มีการเปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐคืนวานนี้ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.6 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 51.3 ในเดือนพฤษภาคม โดยดัชนี PMI ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน แม้ว่าความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 19 เดือน

แต่ทางด้านสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 48.5 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ 48.7 ในเดือนพฤษภาคม และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49.1 โดยดัชนีได้รับผลกระทบจากภาวะหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และนับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลง 0.1% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนเมษายนเมื่อเทียบรายปี โดยการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างพุ่งขึ้น 6.4% ในเดือนพฤษภาคม แต่การใช้จ่ายในโครการที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนลดลง 0.2% ขณะที่การใช้จ่ายในโครงการที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยลดลง 0.3%

Advertisment

ส่วนการใช้จ่ายในโครงการภาคสาธารณะเพิ่มขึ้น 0.5% โดยการใช้จ่ายในโครงการของรัฐบาลกลางพุ่งขึ้น 3.1% และการใช้จ่ายในโครงการของรัฐบาลในมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 0.2%

สำหรับปัจจัยในประเทศ ช่วงเย็นวานนี้ (1/7) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 48.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 48.0 ในเดือนพฤษภาคม 2567 แต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นในภาคการผลิตภาพรวมยังใกล้เคียงระดับ 50 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 สะท้อนภาวะการผลิตที่ทรงตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของบางกลุ่มอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ได้แก่ กลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ความเชื่อมั่นดีขึ้นจากผลประกอบการ และการส่งออกในหลายกลุ่มสินค้า รวมถึงความเชื่อมั่นของกลุ่มผลิตยาง และพลาสติก ที่ปรับดีขึ้นตามความต้องการ

สำหรับความเชื่อมั่นในภาคการผลิตมีแนวโน้มทรงตัว โดยดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผลิตเคมี ปิโตรเลียม ยาง และพลาสติก รวมทั้งกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ทั้งนี้ในระหว่างวัน ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.77-36.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.84/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/7) ที่ระดับ 1.0735/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/7) ที่ระดับ 1.0752/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของเยอรมนีเดือนมิถุนายนจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (1/7) แตะที่ระดับ 43.5 ลดลงจาก 45.4 ในเดือนพฤษภาคม สอดคล้องกับตัวเลขประมาณการเบื้องต้น

นอกจากนี้ช่วงบ่ายวานนี้ (1/7) ได้มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนเดือนมิถุนายนจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล อยู่ที่ระดับ 45.8 ลดลงจาก 47.3 ในเดือนพฤษภาคม ใกล้เคียงกับค่าประมาณการเบื้องต้นที่ 45.6 และอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปี

ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0710-1.0740 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0717/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/7) ที่ระดับ 161.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/7) ที่ระดับ 160.05/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายริวทาโร โคโนะ นักเศรษฐศาสตร์ของบีเอ็นพี พาริบาส์ (BNP Paribas) คาดการณ์ว่า GDP ของญี่ปุ่นจะหดตัวลง 0.4% ในปี 2567

ขณะที่ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของเอสเอ็มบีซีนิคโค ซิเคียวริตีส์ (SMBC Nikko Securities) ซึ่งนำโดยนายโยชิมาสะ มารุยามะ คาดการณ์ว่า GDP จะหดตัวลง 0.3%

โดยก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์ของทั้ง 2 บริษัทคาดการณ์ว่าตัวเลข GDP ปี 2567 ของญี่ปุ่นจะขยายตัวเล็กน้อย ทั้งนี้ การปรับลดประมาณการตัวเลข GDP ของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น จะมีผลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการประชุมปลายเดือนนี้

โดยนายโยชิกิ ชินเกะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยไดอิจิ คาดการณ์ว่า BOJ มีแนวโน้มที่จะปรับลดคาดการณ์ขยายตัวของ GDP ญี่ปุ่นในปีงบประมาณนี้ลงเหลือ 0.5% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 0.8% หลังจากรัฐบาลปรับลดการประเมิน GDP ในไตรมาส 1/2567 ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 161.39-161.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 161.59/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนพฤษภาคม (2/7), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (3/7), ยอดนำเข้า ยอดส่งออกและดุลการค้าเดือนพฤษภาค (3/7), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพฤษภาคม (3/7), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (3/7), รายงานการประชุมวันที่ 11-12 มิถุนายน ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (3/7), และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิถุนายน (5/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.3/-9.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.565/7.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ