27 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง เบื้องหลังนาทีระทึกนายแบงก์ถูก ธปท.โทร.ปลุก

วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540
ภาพถ่ายเมื่อ 23 กรกฎาคม 2540 (GARY WAY / AFP)

ก่อนฟ้าสางวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 นายแบงก์ทุกแห่ง ได้รับสายโทรศัพท์จากธนาคารแห่งประเทศไทย ปลุกให้ตื่นขึ้น นัดหมายให้ไปรวมตัวกัน เพื่อฟังข่าวลือ ที่กลายเป็นข่าวสำคัญ เป็นวาระที่พลิกโฉมหน้าระบบการเงินไทยไปตลอดกาล

2 กรกฎาคม 2567 ครบรอบ 27 ปีเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจไทยที่ถูกเรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เป็นวาระที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบระบบตะกร้าเงิน (Basket of Currencies) ที่ผูกค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์ มาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float Exchange Rate Regime)

2 เดือนก่อนการเปลี่ยนแปลง พฤษภาคม 2540 หลังผ่านการปกป้องค่าเงินบาท ครั้งใหญ่ที่สุด ตัวแทนทางการไทยถึงกับประกาศชัยชนะ เป็นการภายในและเปิดแชมเปญฉลอง

อดีตนายแบงก์รายหนึ่งเล่าว่า มีการจัดงานเลี้ยงมื้อค่ำ จัดโดย ดร.อำนวย วีรวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น และนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการ ธปท. และบรรดานายแบงก์มาจากทุกธนาคาร เข้าร่วมที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค

“ดร.อำนวยแจ้งพวกเราว่า ตอนนี้เราป้องกันค่าเงินได้สำเร็จแล้ว สามารถเอาชนะการโจมตีค่าเงินบาทจากต่างชาติได้แล้ว” ดร.ทนง พิทยะ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารธนาคารทหารไทย แต่ไม่ได้อยู่ในดินเนอร์เล่าไว้ในหนังสือ หนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai Economy

Advertisment

ดร.ทนงยังได้เล่าว่า ทางการได้ตักเตือนบรรดานายธนาคาร อย่าสนับสนุนการเก็งกำไรค่าเงิน ส่วนทาง ธปท.จะพยายามออกระเบียบกำกับดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้ต่างชาติกลับมาโจมตีค่าเงินไทยอีก

5 เดือนก่อนหน้านั้น ธันวาคม 2539 มีบรรดาบุคคล “วงใน” รับทราบว่า นายเริงชัย ผู้ว่าการ ธปท. ได้พยุงค่าเงินบาทไม่ให้ลดลง ด้วยการเข้าแทรกแซง โดยใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าซื้อเงินบาทจากตลาดเงินโดยตรง และเพื่อเป็นการรักษาระดับของทุนสำรองระหว่างประเทศ จึงมีการทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือ Swap ทำให้ ธปท.มีภาระผูกพันที่ต้องส่งมอบเงินตราต่างประเทศคืนให้แก่นักลงทุนในอนาคต

ข่าวลือเริ่มแพร่สะพัดเรื่อง “การลดค่าเงินบาท”

ต้นปี 2540 การโจมตีค่าเงินบาท หนักหน่วงต่อเนื่องตั้งแต่มกราคม กุมภาพันธ์ และในช่วงพฤษภาคม เกิดการโจมตีอย่างรุนแรงที่สุด โดยเฉพาะในวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 ทางการไทยต้องใช้เงินถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อปกป้องค่าเงินบาท อาจกล่าวได้ว่าเป็นการปกป้องค่าเงินที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินไทย

Advertisment

1 เดือนก่อนมรสุมใหญ่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โทรศัพท์ถึง ดร.ทนง พิทยะ ให้เข้ารับใช้ชาติในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทน ดร.อำนวย วีรวรรณ ที่ประกาศลาออกในวันที่ 21 มิถุนายน 2540

จากนั้นไม่กี่วัน เกิดปรากฏการณ์เงินทุนไหลออกเป็นเงินบาท ของนักลงทุนไทยเอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการต่อ ธปท. 2 ทางเลือก ทางหนึ่งคือ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ทางสองคือ ลอยตัวค่าเงินแบบมีเพดานร้อยละ 5-10 ต่อครั้ง

ก่อนฟ้าสว่างวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ข่าวที่เคยลือเรื่องลดค่าเงินบาท ถึงวันระทึก เวลาที่นายแบงก์หลายคนบันทึกตรงกันคือ ราว 05.00 น. เสียงโทรศัพท์ของนายแบงก์ทุกแห่งดังขึ้นเกือบพร้อม ๆ กัน ปลายสายคือ เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

08.30 น. นายธนาคารทุกแห่ง ถูกเชิญให้ไปรวมตัวกันที่อาคารไม้ ชื่อเรือนแพ ริมแม่น้ำ ในวังบางขุนพรหม ที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย และวาระที่ทุกคนคาดหมายไว้ก็มาถึง เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ธปท. แจ้งว่า “นับจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวค่าเงิน”

“นายแบงก์ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพช็อก… เพราะไม่มีใครเข้าใจว่าการลอยตัวค่าเงินแปลว่าอะไร จะส่งผลดี ผลร้าย หรืออย่างไรต่อไป” บัณฑูร ล่ำซำ แห่งธนาคารกสิกรไทย เล่าย้อนเหตุในวันนั้น

การลด-ลอยตัวค่าเงินบาท ในตอนนั้น ไม่เพียงปลุกนายธนาคารไทยให้ตื่นจากความช็อก ด้วยฐานะการเงินของบริษัทใหญ่-ธนาคารหลายแห่งพบว่าอาจอยู่ในภาวะกำลังจะ “ล้มละลาย”

ปรากฏการณ์อาฟเตอร์ช็อก ในวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อสินเชื่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยุคฟองสบู่ เกิดภาวะลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้คืน บริษัทเงินทุนไทยครึ่งร้อยแห่ง กำลังจะล้มละลายจากปัญหาหนี้เสีย

เดือนสิงหาคม 2540 ดร.ทนง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งระงับกิจการสถาบันการเงินทั้งหมด 58 แห่ง

ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเผชิญหน้าปัญหาการเงิน-การคลัง ระลอกแล้วระลอกเล่า ในปีที่ 27 นี้ ไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาฐานะการคลัง…อีกครั้ง