ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลลดลง

ธนบัตร U.S.dollar banknotes
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลลดลง ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า สอดคล้องกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/7) ที่ระดับ 36.72/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 36.69/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าภาพรวมค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อลดลงในเดือน พ.ค.

ซึ่งตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (28/6) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน พ.ค.เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 27% ในเดือน เม.ย.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี สดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.8% ในเดือน เม.ย.

โดยดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หลังจากการเปิดเผย PCE นั้น ข้อมูลจาก LSEG บ่งชี้ว่า มีโอกาสประมาณ 67% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบกับ 65% ก่อนการเปิดเผยข้อมูล PCE

Advertisment

นอกจากนี้บรรดานักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ (5/7) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ในตลาดวอลล์สตรีทคาดว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรอาจเพิ่มขึ้น 195,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. เทียบกับ 272,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค.

สำหรับปัจจัยในภูมิภาค สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน มิ.ย.อยู่ที่ระดับ 49.5 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับในเดือน พ.ค. โดยดัชนีทีอยู่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของจีนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการ ซึ่งเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมด้านการบริการและการก่อสร้างนั้นอยู่ที่ระดับ 50.5 ในเดือน มิ.ย. ลดลงจากระดับ 51.1 ในเดือน พ.ค.

อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ภาคบริการอยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของจีนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นายหัว โจว หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท Guotai Junan Intemational กล่าวว่า การหดตัวของดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจส่งผลให้ตลาดการเงินเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเร่งออกมาตรการฟื้นฟูภาคการผลิตและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงค่าเงินหยวนและค่าเงินเยน โดยค่าเงินบาทยังถูกกดดันจากปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติที่ยังไหลออก ทั้งนี้ในระหว่างวัน ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.67-36.77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/7) ที่ระดับ 1.0756/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระบปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 1.0707/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินยูโรฟื้นตัวกลับมา หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่า จากแรงกดดันเรื่องธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมครั้งล่าสุด รวมถึงถูกกดดันจากสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศส โดยในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0725-1.0777 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0763/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/7) ที่ระดับ 160.89/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 160.70/75 โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าแตะแนว 161.00 เยน/ดอลลาร์ ถือเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 38 ปี แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ (1/7) ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ (ทังกัน) ในไตรมาส 2/2567 ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 13 จากระดับ 11 ในไตรมาส 1/2567

ดัชนีทังกันซึ่งเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่นของบริษัทต่าง ๆ ในภาคการผลิต เช่น บริษัทในอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์นั้น ปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ไตรมาส และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยของตลาดซึ่งสำนักข่าวเกียวโดสำรวจไว้ที่ระดับ 12

นอกจากนี้ รายงานของ BOJ ยังระบุด้วยว่าบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นจะปรับเพิ่มการใช้จ่ายประเภททุนอีก 11.1% ในปีงบการเงินที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.คง 2568 เทียบกับการสำรวจครั้งก่อนที่ระดับ 4.0% และเทียบกับตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยของตลาดที่ระดับ 13.9% ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 160.61-161.19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 160.99/161.01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน มิ.ย. จากเอสแอนด์พี โกลบอล (1/7), ดัชนีภาคบริการเดือน มิ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (1/7), การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือน พ.ค. (1/7), ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือน พ.ค. (2/7),

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (3/7), ยอดนำเข้า ยอดส่งอก และดุลการค้าเดือน พ.ค. (3/7), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน พ.ค. (3/7), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (3/7), รายงานการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (3/7), และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มิ.ย. (5/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap Point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.75/-9.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.70/-4.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ