ย้อนรอย 27 ปี ลอยตัวค่าเงินบาท ทบทวนจุดอ่อนโครงสร้างการเงินไทย

Baht

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ย้อนรอย 2 กรกฎาคม 2540 ลอยตัวค่าเงินบาท ครบรอบ 27 ปี เผย ปัญหาแตกต่างกันระหว่าง “การลงทนและใช้จ่ายเกินตัว-ผูกค่าเงินกับดอลลาร์” จุดชนวนการถูกโจมตีค่าเงิน ทำค่าความผัผนวนค่าเงินหลังลอยตัวค่าเงินบาทแตะ 34.5% ชี้ ทบทวนจุดอ่อนของโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทยโจทย์ส่วนใหญ่เป็นโจทย์ระยะกลาง-ยาว

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 จะเป็นวันครบรอบ 27 ปีของการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท (2 กรกฎาคม 2540)

ดังนั้น บทความนี้จะย้อนกลับไปทบทวนจุดอ่อนของโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทยในเวลานั้น และเปรียบเทียบกับบริบทปัจจุบันเพื่อให้รู้เท่าทัน ป้องกันไม่ให้เกิดการเดินซ้ำรอยอดีต และเพื่อช่วยสนับสนุนเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าให้มีความต่อเนื่อง

สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจและการเงินไทยในปัจจุบัน แตกต่างจากช่วงปี 2540 เพราะตอนนั้นปัญหาปะทุขึ้นมาจากการลงทุนและการใช้จ่ายเกินตัว และมีการผูกค่าเงินกับดอลลาร์ภายใต้ระบบตะกร้าเงิน ขณะที่ ประเด็นท้าทายรอบนี้มีความซับซ้อนและแตกต่างจากปี 2540 เพราะโจทย์ส่วนใหญ่เป็นโจทย์ระยะกลาง-ยาว

โดยวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เป็นวันครบรอบ 27 ปี ที่ทางการไทยปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบระบบตะกร้าเงิน (Basket of currencies) ที่ผูกค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์ มาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float Exchange Rate Regime)

Advertisment

โดยการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยในครั้งนั้น เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทย เพราะทำให้เงินบาทสามารถเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เทียบกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกติดกับตะกร้าเงินที่นอกจากอัตราแลกเปลี่ยนจะขาดความยืดหยุ่นแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทย และเป็นชนวนของการถูกโจมตีค่าเงินในช่วงเวลานั้น

ย้อนกลับมามองสถานการณ์ในปี 2567 แม้ยังคงเห็นการไหลออกของกระแสเงินลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย แต่ค่าความผันผวนของเงินบาทในปี 2567 ก็มีแนวโน้มชะลอลง จากที่อยู่สูงถึง 9.0% ในปี 2566 มาอยู่ที่ 6.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 และต่ำกว่าค่าความผันผวนในช่วง 1 ปีหลังลอยตัวค่าเงินบาทซึ่งอยู่ที่ 34.5% ค่อนข้างมาก

ภาพดังกล่าวสะท้อนว่า ภายใต้ระบบ Managed Float ธปท.จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลความเคลื่อนไหวและลดความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งสำหรับโจทย์ท้าทายในปีนี้จะอยู่ที่ปัจจัยไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงิน รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

Advertisment

ในมิติเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐกิจ และมาตรวัดเสถียรภาพต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน ดีขึ้นกว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินปี 2540 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า วิกฤตเศรษฐกิจการเงินในปี 2540 ที่มีต้นตอมาจากความไม่สมดุลภายในและการผูกค่าเงิน แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัวจากผลกระทบช่วงโควิด-19

ทั้งนี้ วิกฤตเศรษฐกิจการเงินของไทยในปี 2540 ปะทุขึ้นจากความไม่สมดุลหลายด้าน โดยภาคเอกชนและสถาบันการเงินขาดการตระหนักถึงความเสี่ยง มีการใช้จ่ายและกู้ยืมเกินตัวเปิดความเสี่ยงด้าน Maturity and Currency Mismatch มีการก่อหนี้ต่างประเทศสูง และมีการเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในตลาดอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ เศรษฐกิจภาพรวมยังมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังเป็นเวลานานตลอดช่วงปี 2530-2540 แต่อัตราแลกเปลี่ยนตรึงไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งทำให้ถูกโจมตีค่าเงิน และทางการไทยจำเป็นต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท โดยในเวลานั้น เงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิลดลงเหลือเพียง 2.8 พันล้านบาท ณ มิ.ย. 2540

กลับมาที่สถานการณ์ในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัวจากช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยมีจุดที่แตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตปี 2540 ก็คือ ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันมีความเข้มแข็งมากกว่ามาก โดยระดับเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ 21 มิย. 2567 อยู่ที่ประมาณ 2.53 แสนดอลลาร์ สามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น การนำเข้า 3 เดือน และหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรได้เต็มจำนวน

ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.6% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2566 และทางการก็ได้มีมาตรการดูแลการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสะท้อนว่า มีการเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤตเพื่อป้องกันการเดินซ้ำรอยเดิมของระบบเศรษฐกิจและการเงินไทย

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า โจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนั้น มีความแตกต่างไปจากอดีต เพราะมีทั้งประเด็นเฉพาะหน้า โดยเฉพาะความคาดหวังของนักลงทุนต่อสถานการณ์และนโยบายเศรษฐกิจไทย และโจทย์ที่เกิดจากปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนและโจทย์เชิงโครงสร้าง ที่ยังต้องดูแลแก้ไข

อาทิ (1) ปัญหาหนี้ในระดับสูงทั้งภาครัฐและครัวเรือน

(2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อ Global Supply Chain

(3) ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (4) การเตรียมตัวกับการที่ไทยกำลังเข้าสู่ Aged society ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานและภาระด้านสาธารณสุขในระยะยาว และ (5) การเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ทั้งนี้ จะเห็นว่า โจทย์ความไม่สมดุลในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในอดีตทยอยได้รับการแก้ไขหลังการลอยตัวค่าเงินบาท การกู้เงินกับ IMF และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่ ประเด็นท้าทายรอบนี้มีความซับซ้อนและแตกต่างจากปี 2540 เพราะโจทย์ส่วนใหญ่เป็นโจทย์ระยะกลาง-ยาว ซึ่งอาจนำไปสู่การสะสมปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจในอีกรูปแบบหนึ่ง

ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรร่วมกันช่วยเสริมสร้างสมดุลใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากข้อจำกัดเชิงโครงสร้างต่อระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต