ศุลกากร คาดเก็บ VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท ปีนี้ได้ 700 ล้าน

พันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ โฆษกกรมศุลกากร
พันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ โฆษกกรมศุลกากร

ศุลกากรพร้อมเก็บ VAT 7% สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท 5 ก.ค.นี้ คาดจัดเก็บปีนี้ได้ 700 ล้านบาท และคาดปี’68 จัดเก็บได้กว่า 2,100 ล้านบาท เผยเป็นมาตรการระยะสั้น ด้าน “สรรพากร” เตรียมคุยแพลตฟอร์มออนไลน์ นำส่งภาษีโดยตรงกับกรม

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ได้เปิดเผยว่า หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศบังคับใช้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% จากสินค้านำเข้าตั้งแต่ 1 บาทแรก จากเดิมที่มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้การเก็บ VAT ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.-31 ธ.ค. 67 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับสินค้าในประเทศที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยทางกรมศุลกากรได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมาตรการดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเก็บรายได้เพิ่ม แต่ต้องการสร้างความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการภายในประเทศ ที่ปัจจุบันเสียเปรียบเพราะต้องเสีย VAT 7%

“รัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในการขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคระหว่างผู้ขายในต่างประเทศซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กับผู้ขายในประเทศไทยซึ่งต้องเสีย VAT กรมศุลฯจึงออกประกาศให้ของนำเข้าที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามความประสงค์ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2567” นายพันธ์ทองกล่าว

สำหรับการจัดเก็บจะให้ทางบริษัทผู้นำเข้าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเสีย VAT เพิ่ม 7% ให้กับผู้ซื้อสินค้า ซึ่งทางกรมศุลกากรจะเป็นผู้เก็บภาษีแทนให้กรมสรรพากรเท่านั้น และจัดเก็บภาษีดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ระหว่างรอการแก้กฎหมายของกรมสรรพากร

โดยคาดว่าการจัดเก็บภาษีจนถึงสิ้นปีนี้ คาดว่าจะสามารถเก็บจากการนำเข้าประมาณ 700 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2568 คาดว่าจะจัด VAT ได้ถึง 2,100 ล้านบาท หลังจากตั้งปีงบประมาณ 2567 สินค้านำเข้ามีมากกว่า 89 ล้านชิ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 26,000 ล้านบาท จากด่านศุลกากรที่มีการนำเข้าสินค้าจากจีน มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ 1.ด่านศุลกากร จ.มุกดาหาร 2.ด่านศุลกากร จ.นครพนม และ 3.ด่านศุลกากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

Advertisment

ขณะที่สินค้าที่มีส่งผ่านไปรษณีย์ไทย จะมีการติดบาร์โค้ดไว้บริเวณหน้าบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ที่สั่งสินค้าเป็นผู้สแกนจ่ายภาษี 7% ก่อนรับสินค้า และถ้าไม่มีการจ่ายภาษี สินค้าดังกล่าวก็จะถูกตีกลับไปทางไปรษณีย์ต้นทาง ซึ่งปริมาณสินค้าในส่วนนี้มีสัดส่วนที่น้อย คาดว่าไม่มีปัญหาในการดำเนินการแต่อย่างไร

นายพันธ์ทองกล่าวต่อว่า สำหรับความกังวลของประชาชน ในการจัด VAT มูลค่าเพิ่ม 7% จะส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น ในความเป็นจริงแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ หรือผู้ขายสินค้าจะเป็นผู้รับภาระภาษีแทนลูกค้า แต่สินค้าบางอย่างอาจปรับเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ตนเองจึงอยากแนะนำให้ผู้ให้บริการขนส่งจ่ายค่าส่วนต่างนี้ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ซื้อ

ด้านนายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในตอนนี้กรมสรรพากรกำลังสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อรองรับการจัดเก็บ VAT เพิ่ม จากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และจะมีการประสานงานพูดคุยกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อนำส่งภาษีโดยตรงกับกรมสรรพากร ซึ่งเป็นรูปแบบจัดเก็บเหมือนกับหลายประเทศ เพราะในยุคปัจจุบันการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เติบโตขึ้นสูงมากในปัจจุบัน