ปลัดคลัง ดีเดย์ฟื้นกองทุนวายุภักษ์ เม็ดเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาทในอีก 2 เดือน

ลวรณ แสงสนิท

ปลัดคลัง เผยเตรียมจัดทำกองทุนวายุภักษ์ วงเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท อีก 2 เดือน เล็งใช้กองทุนเดิมดำเนินการ มองจะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นไทยช่วงสิ้นปีนี้

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดกองทุนวายุภักษ์ 3 วงเงินมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มไม่เกิน 2 เดือนนับจากนี้ จะสามารถดำเนินการกระตุ้นตลาดหุ้นได้ทันที

สำหรับรูปแบบกองทุนวายุภักษ์ จะตั้งเป็นกองทุนใหม่ หรือไปใช้กองทุนวายุภักษ์ 1 หรือ 2 ไม่มีความแตกต่างกัน เป้าหมายสำคัญคืออะไรทำได้เร็วกว่าก็จะใช้วิธีนั้น ซึ่งจะช่วยดันเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ

“เรื่องกองทุนวายุภักษ์จุดที่ให้ สคร.พิจารณาคือ จะใช้กองเก่าหรือกองใหม่ก็ได้ อันไหนทำได้เร็วกว่าให้ทำอันนั้น เพื่อเกิดเม็ดเงินหมุนเข้าไปตลาดทุน” ปลัดคลัง กล่าว

นายลวรณกล่าวว่า ปัจจุบันคลังมีการกระตุ้นตลาดหุ้นผ่าน กองทุน Thai ESG แต่เป็นกองทุนที่จะมีการใช้สิทธิซึ่งส่วนใหญ่เกิดการซื้อในช่วงใกล้สิ้นปี เพื่อใช้หักลดหย่อนภาษี จึงเกิดแรงซื้อในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ จึงจำเป็นต้องมีกองทุนวายุภักษ์ เพื่อเติมเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ตลาดหุ้นเสริมไปกับมาตรการ กองทุน Thai ESG

Advertisment

สำหรับข้อเสนอ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เสนอให้ลดเงื่อนไขกองทุน Thai ESG เป็นการหารือกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ผ่านมา ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าคุ้มค่ากับเม็ดเงินภาษีหรือไม่

“วันนี้เป็นโอกาสของการพัฒนาตลาดทุนไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องการเติมเงินผ่านกองทุนวายุภักษ์ 3 หรือการให้สิทธิประโยชน์ภาษีลงทุนเพิ่มเติมเพียงอย่างเดียว แต่มีการทำงานรวมกัน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ได้มีการทยอยมาตรการออกมาเรียกความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย ให้นักลงทุนเชื่อมั่นกลับมาลงทุนได้อย่างมั่นใจ” นายลวรณกล่าว

นายลวรณกล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ จะต้องเร่งรัดงบประมาณปี 2567 ออกสู่ระบบโดยเร็วที่สุด จึงได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลการการจัดเก็บภาษีรายได้จากเป้าหมาย 2.78 ล้านล้านบาท แม้กรมจัดเก็บภาษียังมีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.6 หมื่นล้านบาท มองว่าในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 3 เดือน จะครบกำหนดงบฯปี’67 มองว่าทุกหน่วยงานร่วมมือกัน จะทำได้ตามเป้าหมาย รวมถึงการดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณปี’67 เพื่ออัดฉีดเงินออกสู่ออกสู่ระบบ หลังจากภาพรวมการเบิกจ่ายงบฯลงทุนปี’67 จำนวน 8.5 แสนล้านบาท ในไตรมาส 3 ของปีงบฯ 67 (เม.ย.-มิ.ย.) โดยต้องเบิกจ่ายไม่น้อยกว่า 21% ปัจจุบัน เบิกจ่ายไปแล้ว 38.6%