ประกันภัย “รถยนต์ไฟฟ้า” ในประเทศไทย

insurance
คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
ผู้เขียน : Actuarial Business Solutions [ABS]

ในปัจจุบัน ธุรกิจต่าง ๆ กำลังพัฒนาสู่การทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงกระแสการบริโภคที่เริ่มคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหลัก อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการก่อมลพิษก็จำเป็นต้องปรับตัวจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเพียงอย่างเดียวเช่นกัน

เห็นได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานทางเลือกต่าง ๆ เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยใช้พลังงานทดแทนจากแหล่งอื่น หนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles : BEVs) ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่ไฟฟ้าในมอเตอร์ไฟฟ้า โดยเติมพลังงานจากการเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

จึงปล่อยมลพิษทางเสียงและอากาศน้อยกว่ารถยนต์สันดาปภายในทั่วไปมาก รวมถึงมีแนวโน้มประหยัดพลังงานและความคุ้มค่าของต้นทุนการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ในปี 2023 ที่ผ่านมา ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นกว่า 380 เปอร์เซ็นต์ โดยมียอดจดทะเบียนเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น 700 เปอร์เซ็นต์ เลขสถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่เป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดอย่างมาก และจากการคาดการณ์ในอีกสิบปีข้างหน้า ยานพาหนะชนิดนี้อาจเพิ่มจำนวนขึ้นจนกลายเป็นยานพาหนะหลักในประเทศไทย

เช่นเดียวกับรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปที่มีกำหนดหลักเกณฑ์การประกันภัยอย่างชัดเจน

Advertisment

สํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็ได้มีการออกประกาศเกณฑ์ประกันภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่เช่นกัน (คำสั่งนายทะเบียนที่ 47/2566) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยมีข้อสรุปความแตกต่างกับประกันภัยรถยนต์ทั่วไปใน 3 ประเด็น ดังนี้

1.ความคุ้มครอง

คำสั่งนายทะเบียนระบุความคุ้มครองส่วนใหญ่ของรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่คล้ายคลึงกับประกันภัยรถยนต์ทั่วไปในปัจจุบัน โดยเพิ่มข้อยกเว้นความเสียหายที่เกิดจากความขัดข้องของระบบปฏิบัติการที่ใช้ควบคุมรถยนต์อันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก (Cyber Breach) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการชนและความเสียหายตามมาได้

นอกจากนี้ ความคุ้มครองยังไม่รวมถึงความสูญเสียหรือเสียหายต่อเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (ยกเว้นสายชาร์จไฟฟ้าแบบพกพาที่ติดตั้งมากับรถยนต์โดยโรงงานประกอบรถยนต์)

ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมตามเอกสารแนบท้ายได้

Advertisment

2.แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

แบตเตอรี่ไฟฟ้า ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ เนื่องจากเป็นแหล่งจ่ายพลังงานเดียวของระบบการขับขี่รถยนต์ โดยรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน (Lithium Ion Battery) ที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน และประสิทธิภาพการจ่ายไฟคงที่ ซึ่งราคาของแบตเตอรี่จะขึ้นกับขนาดความจุและชนิดวัสดุ ทำให้ราคาเฉลี่ยของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในท้องตลาดอาจสูงถึงครึ่งหนึ่งของราคารถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า

ดังนั้นในประกาศเกณฑ์การประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ฉบับใหม่จึงเพิ่มความคุ้มครองครอบคลุมส่วนของแบตเตอรี่ไฟฟ้าด้วย

ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อตัวแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คำสั่งนายทะเบียนมีการกำหนดอัตราการชดใช้สินไหมทดแทนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าตามค่าเสื่อมราคาอย่างชัดเจน โดยอัตราการชดใช้สินไหมทดแทนสูงสุดจะลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

นอกจากนี้ กรณีผู้เอาประกันภัยตกลงจำหน่ายแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเดิมที่เกิดความเสียหาย บริษัทจะจัดสรรจำนวนเงินที่ได้จากการจำหน่ายแก่ผู้เอาประกันภัยตามสัดส่วนข้างต้น และผู้เอาประกันภัยสามารถซื้อความคุ้มครองค่าใช้จ่ายกรณีเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมตามเอกสารแนบท้าย

3.ผู้ขับขี่

ถึงแม้ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจทั่วไปจะไม่บังคับระบุชื่อผู้ขับขี่ แต่ในการทำประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ส่วนบุคคลจำเป็นต้องระบุชื่อผู้ขับขี่เท่านั้น โดยสามารถแจ้งระบุชื่อผู้ขับขี่ได้สูงสุด 5 คนต่อคัน สาเหตุของข้อบังคับนี้ เนื่องจากการคำนวณเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่จะใช้ประวัติของผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมการขับขี่เสี่ยงภัยสูงที่สุดมาเป็นเกณฑ์พิจารณาเพิ่มหรือลดเบี้ยประกันในปีถัดไป แตกต่างจากประกันภัยรถยนต์ทั่วไปที่ใช้ประวัติการเรียกร้องค่าเสียหายต่อบริษัทของรถยนต์คันนั้น ๆ ในการคำนวณ

และในกรณีเกิดความเสียหายซึ่งพิสูจน์ได้ว่ารถยนต์ของผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิด หากผู้ขับขี่ในขณะนั้นไม่ได้มีชื่อระบุในรายชื่อผู้ขับขี่ของกรมธรรม์ ผู้เอาประกันภัยอาจต้องรับผิดชอบความเสียหายส่วนแรกเพิ่มเติมอีกด้วย