“เงินฝากสกุลต่างประเทศ” บูม อานิสงส์ส่วนต่างดอกเบี้ย แห่เปิดบัญชีพุ่ง

currency

“ปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่ง มีการออกโปรดักต์เงินฝากที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ (บัญชี FCD) กันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ “เปิดเสรี” บัญชี FCD ตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ย. 2563 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและคนไทยสามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างคล่องตัว และเป็นทางเลือกในการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ

เปิดบัญชี FCD ทะลุ 8 แสนบัญชี

ล่าสุด ข้อมูลจาก ธปท.รายงานแนวโน้มการใช้บัญชีเงินฝาก FCD ของคนไทยที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวนบัญชีและยอดคงค้าง โดยข้อมูล ณ มี.ค. 2567 มีจำนวนบัญชีอยู่ที่ 814,121 บัญชี และยอดคงค้างอยู่ที่ 22,444 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ในแง่พัฒนาการพบว่าผู้ประกอบธุรกิจใช้บัญชี FCD เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับธนาคารพาณิชย์มีการให้บริการผลิตภัณฑ์ผ่านบัญชี FCD ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การลงทุนทองเป็นสกุลดอลลาร์, การเปิดบัญชี FCD และแคมเปญเงินฝากประจำดอกเบี้ยสูง ซึ่ง ธปท.ประเมินว่า ในระยะต่อไป การใช้บัญชี FCD น่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง

คนไทยนิยมมากขึ้น

นายภิสัก อึ้งถาวร Head, Market Research and Advisory ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เงินฝาก FCD ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น หลังจาก ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์มากขึ้น จากเดิมไม่อนุญาตให้บุคคลธรรมดามีบัญชีดังกล่าว จะมีเพียงนิติบุคคล ธุรกิจรายใหญ่ที่มีธุรกรรมส่งออกและนำเข้า โดยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ถือเป็นธนาคารแรกที่มีการเสนอบัญชีเงินฝาก FCD โดยให้อัตราดอกเบี้ยสูง 5% ถือเป็นโอกาสการลงทุน และกระจายความเสี่ยง

โดยในปี 2567 นี้ จะเห็นว่าหลายธนาคารหันมาออกบัญชีเงินฝาก FCD เสนออัตราดอกเบี้ยสูงมากขึ้น เนื่องจากคนเริ่มมีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้น และถือเป็นการลงทุนและกระจายความเสี่ยงได้ ซึ่งมองไปข้างหน้ายังคงเห็นบัญชี FCD ขยายตัวต่อ จากปัจจุบันเติบโตเป็น 100% โดยมี 2 ปัจจัยสนับสนุนการเติบโต ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐ-ไทย หรือสกุลอื่น รวมถึงความเสี่ยงค่าเงิน เช่น ดอกเบี้ย 5% ค่าเงินอยู่ในระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้

Advertisment

“FCD มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด แม้ว่าจำนวนวอลุ่มอาจจะไม่เยอะมาก เมื่อเทียบกับเงินฝากรวมทั้งประเทศ แต่จะเห็นการแข่งขันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคนเริ่มมีความรู้ และเป็นช่องทางในการลงทุน ซึ่งเราเองตอนนี้อาจจะไม่ได้ทำแข่งขันชนกับแบงก์อื่น แต่ก็ยังมีโปรดักต์นี้เสนอลูกค้าที่ต้องการลงทุน โดยเสนอดอกเบี้ยอยู่ที่ราว 4%”

ส่วนต่างดอกเบี้ยหนุนยอดบัญชีพุ่ง

นางสาวกนกวรรณ เพชรพิสิฐโชติ ประธานกลุ่ม บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกรรมธนาคารและความมั่งคั่งทางการเงิน ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) เปิดเผยว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มียอดคงค้างเงินฝาก FCD สูงขึ้น 11% และจำนวนลูกค้าที่เปิดบัญชีใหม่สูงขึ้นกว่า 30% ซึ่งเป็นผลมาจากส่วนต่างของดอกเบี้ยของเงินบาทกับสกุลเงินตราต่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงยาวนาน

จึงเป็นโอกาสของกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้เงินตราสกุลต่างประเทศ เช่น เพื่อวางแผนการศึกษาต่างประเทศของบุตร หลาน หรือการลงทุนในต่างประเทศได้ให้ความสนใจในการเปิดบัญชี FCD ทั้งแบบออมทรัพย์และเงินฝากประจำที่มีผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกรรมของบัญชี FCD ในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา

แบงก์แข่งจัดแคมเปญดอกสูง

โดยทีทีบีมีแคมเปญเงินฝาก FCD เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลาย เช่น อัตราดอกเบี้ยพิเศษบัญชีออมทรัพย์ สกุล USD ที่อัตราดอกเบี้ย 4.00% ต่อปี หรือบัญชีเงินฝากประจำ 6 เดือน ที่อัตราดอกเบี้ย 5.25% ต่อปี

Advertisment

“บัญชีเงินฝาก FCD สกุลดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยสกุลเงินบาท และยังช่วยให้ผู้ที่มีภาระรับหรือจ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศสามารถบริหารต้นทุนและความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างสกุลเงินต่างประเทศกับสกุลเงินบาท ยังคงสูงอยู่ ประมาณ 2.5-3.0% จะเป็นส่วนชดเชยได้ ในกรณีที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น”

นางสาวกมลวรรณ อิ่มฤทัยเจริญโชค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานผลิตภัณฑ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ลูกค้ารายย่อย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตเงินฝาก FCD ที่ 20% โดยปัจจุบันธนาคารมีแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษ FCD สกุล USD 9 เดือน ดอกเบี้ย 5.1% ฝากขั้นต่ำ 30,000 ดอลลาร์

“คาดว่าตลาดเงินฝาก FCD จะมีการเติบโตต่อเนื่อง ตามนโยบายการผ่อนคลายต่าง ๆ ของ ธปท. และการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นของประชาชน ที่มีการฝากเงินสกุลต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อทางเลือกในการออม จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากที่เป็นไทยบาท”

ปัจจุบันรูปแบบเงินฝาก รวมถึงการลงทุนมีหลากหลาย ซึ่งช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน และผู้ฝากเงิน อย่างไรก็ดี คงต้องศึกษารายละเอียดโปรดักต์ให้เข้าใจด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด