ลานีญา “สาวน้อย” หลาก Character…นัยต่อเศรษฐกิจไทย

La Niña
คอลัมน์ : Next normal กับอภิรัก๋ษ์
ผู้เขียน : ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าผมจะไปที่ไหนก็มักได้ยินหลายท่านพูดถึงสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติแทบทุกวัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 เป็นต้นมา แต่ล่าสุดสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น หลังองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐ คาดว่าเอลนีโญจะเริ่มอ่อนกำลังลง และเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนมิถุนายน 2567

ต่อจากนั้นมีโอกาสถึง 69% ที่จะเปลี่ยนเป็นปรากฏการณ์ลานีญา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ส่งผลให้หลายพื้นที่ในเอเชียรวมถึงไทยมีฝนตกมากขึ้น วันนี้ผมจึงอยากชวนท่านผู้อ่านมาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถิติที่น่าสนใจของลานีญา (La Nina) ซึ่งในภาษาสเปนแปลว่าเด็กผู้หญิง หรือ “สาวน้อย” ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดังนี้

– สาวน้อยอารมณ์แปรปรวน…นับตั้งแต่ NOAA ได้จัดทำดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิก (Oceanic Nino Index : ONI) ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา พบว่าโลกเกิดลานีญาแล้ว 25 ครั้ง ใกล้เคียงกับเอลนีโญที่ 27 ครั้ง แต่ในช่วง 30 ปีหลังสุดที่ปัญหาโลกร้อนเร่งตัวขึ้นมาก พบว่าลานีญาเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า ที่ 14 ต่อ 11 ครั้ง และมีหลายครั้งที่ลานีญากินระยะเวลายาวนานกว่า เห็นได้จากลานีญาครั้งล่าสุดที่กินระยะเวลาถึง 3 ปี (ปี 2563-2565) เทียบกับเอลนีโญครั้งหลัง ๆ ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นไม่เกิน 2 ปี

ขณะที่ในแง่ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ หน่วยงานส่วนใหญ่มักประเมินว่าเอลนีโญจะสร้างความเสียหายมากกว่า เห็นได้จากเอลนีโญ ล่าสุดในปีที่ผ่านมา Dartmouth College ของสหรัฐก็คาดว่าอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าครั้งล่าสุดที่ Water Education Foundation คาดว่าจะสร้างความเสียหาย 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทย หากพิจารณาความเสียหายจากเอลนีโญ ในระดับรุนแรงที่เกิดขึ้นปี 2558-2559 พบว่าส่งผลกระทบจำกัดแค่ในภาคเกษตร สะท้อนจาก GDP ภาคเกษตรที่หดตัวเฉลี่ย 3.9% ต่อปี (ภาคเกษตรคิดเป็น 9% ต่อ GDP) แต่ GDP รวมยังโตได้ 3.3%

Advertisment

ขณะที่ลานีญาระดับรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2554 ทำให้เกิดมหาอุทกภัยช่วงปลายปี ดูจะกระทบภาคเกษตรค่อนข้างน้อย สะท้อนจาก GDP ภาคเกษตรที่ยังโตได้ 6.3% แต่กลับส่งผลกระทบวงกว้างต่อภาคอุตสาหกรรม กดดันให้ GDP รวมโตเพียง 0.8% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หากไม่นับรวมปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

– สาวน้อยใจดีผู้ให้ความชุ่มชื้น…ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ไทยต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งจากเอลนีโญในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรโดยรวมหดตัวเฉลี่ย 1.6% ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1 ปี 2567 โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น กดดันให้รายได้เกษตรกรในช่วงดังกล่าวหดตัวเฉลี่ย 0.4% อย่างไรตาม หากลานีญาที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ก่อให้เกิดฝนตกในปริมาณที่พอเหมาะกับการทำเกษตร ก็อาจมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ดังกล่าวกระเตื้องขึ้นได้

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในปี 2554 ที่ไทยเผชิญลานีญาระดับรุนแรง ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 35% ตั้งแต่ต้นปี แต่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรโดยรวมยังขยายตัวได้ถึง 8.5% แม้ว่าในช่วงปลายปีจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตบางส่วน โดยเฉพาะข้าวนาปีในพื้นที่ภาคกลาง แต่ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะอ้อยและปาล์มน้ำมันกลับได้ผลดีจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น

– สาวน้อยนักปั่นราคา…หากพิจารณาสถิติเงินเฟ้อโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าปีที่เกิดลานีญาในระดับรุนแรงจะมีส่วนผลักดันให้เงินเฟ้อโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยที่ 3.5% และสูงกว่าปีที่เกิดเอลนีโญเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศที่มีสัดส่วนเงินเฟ้อในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูง อาทิ อินเดีย (46%) บังกลาเทศ (45%) เวียดนาม (34%) รวมถึงไทยที่ 40%

Advertisment

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปี 2554 แม้ลานีญาจะทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยในภาพรวมเพิ่มขึ้นดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรก็กลับเพิ่มขึ้นไปด้วยถึงกว่า 12% ผลักดันให้เงินเฟ้อในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปี 2554 พุ่งขึ้นถึง 8% มากกว่า 1.4% ในปี 2558-2559 ที่ไทยเกิดเอลนีโญระดับรุนแรง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากดัชนีราคาอาหารโลกปี 2554 สูงขึ้นถึง 24% ภายหลังหลายพื้นที่ในละตินอเมริกาและแอฟริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญประสบภัยแล้ง

ทั้งนี้ เงินเฟ้อดังกล่าวจะขึ้นหรือลงคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว คงต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ด้วย อาทิ ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการอุดหนุนและจำกัดการส่งออกของประเทศต่าง ๆ เป็นต้น แต่ที่แน่ ๆ เราคงต้องจับตามองทิศทางเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไปอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลต่อนโยบายการเงินของหลายประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้

สุดท้ายนี้ คงยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าลานีญาที่จะเกิดขึ้นจะมีความรุนแรง หรือส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการบริหารจัดการน้ำ ปริมาณน้ำฝน ตลอดจนพื้นที่ที่จะเกิด ว่าเป็นพื้นที่เกษตรหรือนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญเพียงใด อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวเนื่องก็ควรประเมินความเสี่ยงแต่เนิ่น ๆ เพื่อเตรียมแผนรับมือให้ได้ทันท่วงที ผมก็หวังว่าสาวน้อยลานีญาในปีนี้จะอ่อนโยนกับภาคเกษตรและเศรษฐกิจไทยนะครับ