ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ

dollar

ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 24-28 มิถุนายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (24/6) ที่ระดับ 36.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/6) ที่ระดับ 36.63865 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก โดยได้แรงหนุนจากมุมมองที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยล่าช้ากว่าธนาคารกลาแห่งอื่น ๆ โดยรายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพียง 1 ครั้งในปี 2567 จากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือน มี.ค.

ขณะที่นางมิเชล โบว์แมน ซึ่งเป็นสมาชิกคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และเป็นสมาชิกถาวรของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาปรับลดอัตราดอกเบี้ยและเธอเปิดกว้างต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังได้รับแรงหนุน หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.30% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.435% อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลง หลังสหรัฐเปิดรับข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา และทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

Advertisment

โดยสหรัฐเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือน พ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน เม.ย. ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานซึ่งไม่รวมเครื่องบินและสินค้าด้านอาวุธ ลดลง 0.6% ในเดือน พ.ค. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน เม.ย. โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานเป็นข้อมูลที่บ่งชี้ถึงแผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ

ข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนมองว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. และยังคงคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ แม้เฟดส่งสัญญาณในการประชุมครั้งล่าสุดว่าจะปรับดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ก็ตาม

นอกจากนี้ สหรัฐยังเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 6,000 ราย สู่ระดับ 233,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 236,000 ราย และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2567 ขยายตัว 1.4% สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ระดับ 1.3% แต่ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 1.6%

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ (28/6) ขณะนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานจะปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือน เม.ย. และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือน เม.ย.

Advertisment

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ น.ส.ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 และแนวโน้มในปี 256 ว่า ธปท.คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 2.6% ซึ่งภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวได้จากอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว

ซึ่งคาดว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะอยู่ที่ 35.5 ล้านคน นอกจากนี้ แรงส่งเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 เริ่มมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ทำให้ภาครัฐสามารถเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณได้มากขึ้น อีกทั้งเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในภาคการผลิต และการส่งออกบางหมวดสินค้า

อย่างไรก็ดี ยังคงมีความไม่แน่นอน ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการในระยะต่อไป โดยคาดว่าในปีนี้ การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 1.8% โดยสินค้าส่งออกที่ยังมีอนาคตดี ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) แต่การส่งออกสินค้าในกลุ่มยานยนต์ และ Solar cells ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติม ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีสัญญาณ bottom out หรือฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่การฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มสินค้ายังไม่เท่ากัน เนื่องจากปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้าง

ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์, สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม, ปิโตรเคมี และเหล็กขั้นมูลฐาน เป็นต้น ทั้งนี้ ธปท.ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในแต่ละไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จะทยอยฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 1.5% โดยคาดว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 จะขยายตัวได้ราว 2% ส่วนไตรมาส 3 ขยายตัวได้ราว 3% และไตรมาส 4 จะขยายตัวได้ราว 4% และคาดว่าในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.0% ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ ขณะที่การส่งออก คาดว่าขยายตัวได้ 2.6%

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) มีแนวโน้มทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับที่มากกว่า 1% โดยทั้งปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อจะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6% ส่วนปี 2568 อยู่ที่ 1.3% และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมาย

พร้อมมองว่า กรอบเงินเฟ้อที่ 1.3% ช่วยยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในช่วงปี 2565 ประเทศไทยประสบกับภาวะเงินเฟ้อสูง แต่เงินเฟ้อของไทยก็สามารถปรับลดลงได้เร็วเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในรอบระหว่าง 36.55-36.99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 36.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (24/6) ที่ระดับ 1.0688/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/6) ที่ระดับ 1.0696/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าหลุดระดับ 1.0700 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในฝรั่งเศส

อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังจากที่นายฌ็อง-ฟิลิปป์ ต็องกี ส.ส.พรรคเนชั่นแนล แรลลี่ (RN) ฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า RN ภายใต้การนำของนางมารีน เลอ แปน ชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ ทางพรรคจะยุติการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณที่ทำมาหลายทศวรรษ และจะยึดมั่นในกฎระเบียบทางการคลังของสหภาพยุโรป (EU)

โดยนายต็องกีซึ่งเป็นกำลังในด้านนโยบายการเงินของพรรค RN ถือเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หากพรรค RN ซึ่งมีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ สามารถรองเสียงข้างมากเด็ดขาดได้ในการเลือกตั้งสองรอบในวันที่ 30 มิ.ย. และ 7 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0664-1.0746 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 1.0693/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (24/6) ที่ระดับ 159.84/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/6) ที่ระดับ 158.81/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นายมาซาโตะ คันดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นยืนยันว่า ญี่ปุ่นพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงตลาดทุกเวลาหากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น หลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

“หากสกุลเงินเยนมีความผันผวนมากจนเกินไปก็จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น การที่เงินเยนเคลื่อนไหวมากเกินไปในขณะนี้ เป็นผลมาจากการเก็งกำไร ซึ่งเราก็พร้อมที่จะดำเนินการตามความเหมาะสม”

นายคันดะกล่าว การแสดงความเห็นของนายคันดะมีขึ้นในขณะที่เงินเยนร่วงลงสู่ระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ทางการญี่ปุ่นได้เคยเข้ามาแทรกแซงตลาดในอดีต

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผย ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น รายงานข้อมูลเบื้องต้นในวันพฤหัสบดี (27/6) ว่า ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นในเดือน พ.ค. 2567 ขยายตัวแข็งแกร่งถึง 3% แตะระดับ 13.504 ล้านล้านเยน สูงกว่าตัวเลขการเติบโต 2% ในเดือน เม.ย. ข้อมูลยังระบุด้วยว่า ยอดขายเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 48.947 ล้านล้านเยน

ขณะที่ยอดค้าส่งดีดตัวขึ้น 6.7% แตะระดับ 35.443 ล้านล้านเยน สำหรับยอดค้าปลีกในเดือน พ.ค.นั้น สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มขยายตัว 1%, กลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่้มขึ้น 5.3% และกลุ่มเชื้อเพลิงเติบโต 4.5%

ขณะที่กระทรวงกิจการภายในญี่ปุ่นเปิดเผยวันศุกร์ (28/6) ว่า อัตราเงินเฟ้อในกรุงโตเกียวเร่งตัวขึ้นในเดือน มิ.ย. โดยได้รับแรงหนุนจากราคาพลังงานและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาดในเดือน พ.ค. ซึ่งสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือน ก.ค. รายงานระบุว่า ราคาผู้บริโภคไม่รวมอาหารสด ปรับตัวขึ้น 2.1% ในกรุงโตเกียว เร่งตัวขึ้นจาก 1.9% ในเดือน พ.ค.ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 2%

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อของกรุงโตเกียวเป็นดัชนีชี้วัดตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศที่จะเปิดเผยออกมาในเดือน ก.ค นักวิเคราะห์คาดว่า ข้อมูลดังกล่าวอาจช่วยให้ BOJ พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่แรงกดดันด้านราคาอันเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินเยนมีโอกาสทำให้เงินเฟ้ออยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 2%

อย่างไรก็ดี ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 37 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 161.27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐและปิดตลาดในวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 160.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ