จ่อต้อน “แพลตฟอร์ม” จด VAT คลังเก็บภาษีสินค้านำเข้าต่ำ 1,500 บาท

VAT

คลังเตรียมต้อน “แพลตฟอร์มต่างประเทศ” ที่นำเข้าสินค้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ต้อง “จด VAT” ทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้ซื้อสินค้า แล้วนำส่งกรมสรรพากร ชี้ทำเหมือนกรณีเก็บภาษี “e-Service” ที่ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ คาดเริ่มได้ปีหน้า

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ตั้งแต่บาทแรกนั้น ทางกระทรวงการคลังมีแนวทางว่า จะกำหนดให้แพลตฟอร์มต่างประเทศ จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่
ทางกรมสรรพากรได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) ไปแล้ว ซึ่งกรมสรรพากรจะกำหนดให้แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บ หรือหักภาษี ณ ที่จ่าย แล้วนำส่งภาษีให้กับกรมสรรพากรต่อไป

“การเก็บ VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท จะให้แพลตฟอร์มมาจด VAT เหมือนกับ e-Service เพื่อเป็นผู้จัดเก็บภาษี แล้วนำส่งให้กรมสรรพากร อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าว ต้องมีการแก้ไขประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องใช้เวลานาน แต่เนื่องจากรัฐบาลต้องการเก็บภาษีดังกล่าวให้เร็ว ดังนั้น ช่วงนี้จึงใช้วิธีการออกประกาศของกรมศุลกากรไปก่อน โดยหากจบสิ้นปีนี้แล้วยังแก้กฎหมายประมวลรัษฎากรไม่เรียบร้อย ก็ต้องให้กรมศุลกากรออกประกาศต่อไปอีก” แหล่งข่าวกล่าว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2567 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท โดยมีเนื้อหาระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในการขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค ระหว่างผู้ขายในต่างประเทศซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กับผู้ขายในประเทศไทยซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกับประเทศไทยต้องปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งให้กำหนดราคาขั้นต่ำของของที่นำเข้าแต่ละราย เพื่อให้คุ้มค่ากับการจัดเก็บอากรศุลกากร อันเพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530

Advertisment

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1) ให้ยกเว้นอากรสำหรับของที่นำเข้า ซึ่งแต่ละรายผู้รับในประเทศมีราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัย (CIF) ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 บาท แต่ไม่เกิน 1,500 บาท ข้อ 2) ผู้นำของเข้าต้องปฏิบัติตามพิธีการที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนด

ข้อ 3) ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567

ก่อนหน้านี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า การเก็บ VAT สินค้านำเข้าที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท เชื่อว่าจะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้ภาคเอกชนที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ กับผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่อยู่ภายใต้พื้นฐานของกฎหมายของภาษีเดียวกัน

Advertisment

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

ขณะที่กรมสรรพากรมีการประเมินว่า การจัดเก็บ VAT กรณีดังกล่าว น่าจะทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นมากพอสมควร เพราะปัจจุบันการนำเข้าสินค้าลักษณะดังกล่าว คาดว่ามีเป็นแสนชิ้นต่อวัน ซึ่งเมื่อเก็บVAT ก็จะได้ภาษีชิ้นละกว่า 70 บาท

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 ได้เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการคลังออกประกาศเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้ามูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับสินค้านำเข้ามูลค่าตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป จากเดิมที่ไม่เก็บ VAT สินค้าที่มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท โดยจะมีผลภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งเรื่องดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2567 ดังนั้น จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. 2567 เป็นต้นไป

นายพรชัช ชีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 2566-พ.ค. 2567) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,676,921 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 26,238 ล้านบาท หรือ 1.5% โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีมาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ประกอบกับการจัดเก็บภาษีรถยนต์และภาษียาสูบต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี รายได้รัฐบาลสุทธิจัดเก็บได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.5%