เกิดอะไรกับโครงการสีเขียวทั่วโลก นักลงทุนแห่ถอนเงินจาก “หุ้นรักษ์โลก”

economy
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : Bnomics : ธนาคารกรุงเทพ

เกิดอะไรขึ้น เมื่อนักลงทุนทั่วโลกแห่ถอนเงินของกองทุนตราสารทุนด้านความยั่งยืน

ทำไมหุ้น ESG (Environmental, Social and Governance) หรือหุ้นที่คำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ดูจะน่าสนใจน้อยลงหรือไม่ เพราะนักลงทุนมากมายเริ่มถอนเงินจากการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้

จากรายงานของ Barclays ระบุว่า มีเงินทุนไหลออกจากกองทุนรวมตราสารทุน ESG (ESG Equity Funds) กว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปแล้วในปีนี้ ซึ่งนี่ทำให้ปี 2567 เป็นปีแรกที่กระแสเงินในการลงทุนด้านการเติบโตอย่างยั่งยืน “ติดลบ”

ปรากฏการณ์นี้ก็มาจาก 3 สาเหตุหลัก

1) หุ้น ESG ได้ผลตอบแทนไม่ค่อยดีในช่วงสองปีที่ผ่านมา

Advertisment

นี่เป็นเพราะในปี 2022 สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติและราคาพลังงานฟอสซิล อย่าง “น้ำมัน” พุ่งขึ้นสูงเกินหน้าเกินตาพลังงานสะอาด

นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ก็ทำให้กำไรของบริษัทเทคโนโลยีถูกกระทบหนัก ซึ่งบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่กองทุนตราสารทุน ESG มักจะไปลงทุนกัน

โดยในปีที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนของกองทุนตราสารทุน ESG ทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 11% ซึ่งน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนของกองทุนตราสารทุนทั่วไป ที่ 21% ตามรายงานของ JPMorgan

2) มีข่าวเสียหายเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมสีเขียว

Advertisment

โดยในช่วงที่ผ่านมา มีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่งที่ถูกจับได้ว่าให้ข้อมูลเท็จ ว่าธุรกิจตนคำนึงถึงความยั่งยืนมากกว่าที่เป็นจริง เช่น Volkswagen, Toyota, Goldman Sachs, H&M, Decathlon, DWS และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็ได้จ่ายค่าปรับกันไปเยอะพอสมควร เช่น โฟล์คสวาเกน ถูกปรับจากการให้ข้อมูลเท็จในการปล่อยมลพิษ 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือโตโยต้า มอเตอร์ที่ถูกปรับไป 180 ล้านเหรียญสหรัฐ

3) ความยั่งยืนถูกมองเป็น “เครื่องมือ” ทางการเมืองในหลายประเทศ

อย่างในสหรัฐ พรรคริพับลิกัน (Republicans) มองว่า ESG เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรงเพื่อสนับสนุนนโยบายเสรีนิยม ในขณะที่การเลือกตั้งสภาในยุโรป ก็มีคนสนับสนุนพรรคประชานิยมและพรรคชาตินิยมกันมากขึ้น ซึ่งนี่ทำให้เป้าหมายในการสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น และทำให้
นักลงทุนเริ่มกลัวการลงทุนในอุตสาหกรรมยั่งยืนอย่างเปิดเผย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวอาจถูกมองว่าเป็นความเอนเอียงทางการเมือง

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสีเขียวยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปได้

ถึงแม้นักลงทุนจะพากันถอนเงินออกจากกองทุนตราสารทุนรักษ์โลกกัน แต่นักลงทุนอีกหลายคนก็ยังคงเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมความยั่งยืนผ่านทางช่องทางอื่น ๆ

จากรายงานของ Barclays ระบุว่า ในช่วงเวลา 12 เดือนจนถึงเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา กองทุนตราสารหนี้ ESG (ESG Bond Funds) ได้มีเงินทุนเข้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การเติบโตอย่างยั่งยืนยังคงเป็นเป้าหมายที่จำเป็นในสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น หลายประเทศทั่วโลกจะยังต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านนี้ ไม่ว่าจะเรียกมันว่า ESG ต่อไปหรือไม่ก็ตาม