31 บจ.ไล่ซื้อหุ้นคืนหมื่นล้าน พยุงราคา-ฟื้นเชื่อมั่น-บริหารเงินสดเหลือในมือ

หุ้น SET

31 บริษัทจดทะเบียนเทเงินลงทุน 1.2 หมื่นล้าน เปิดโครงการ “ซื้อหุ้นคืน” ช่วงหุ้นไทยตกหนัก ดัชนี SET ขาลงจากต้นปี ติดลบ 8.65% “ไทยยูเนี่ยน-BEM-พริมา มารีน” ท็อป 3 ทุ่มเงินซื้อหุ้นคืนสูงสุดหลักพันล้าน บล.หยวนต้าเปิด 3 เหตุผลสำคัญ พยุงราคาหุ้น-ฟื้นเชื่อมั่น และบริหารเงินสด ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ไม่เห็นโอกาสลงทุน “บล.กรุงศรี” เตือนระวัง กระทบฟรีโฟลต-เงินหมุนเวียนของบริษัท TU เผยโชว์สถานะการเงินแข็งแกร่ง สร้างความมั่นใจผู้ถือหุ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (2 ม.ค.-27 มิ.ย.) ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวลดลง 123.92 จุด คิดเป็นติดลบ 8.65% จากระดับ 1,433.38 จุด หล่นมาอยู่ที่ 1,309.46 จุด สวนทางตลาดหุ้นโลกที่ปรับขึ้น 10%

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ฉายภาพว่า ดัชนี SET ถูกกดดันจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำกว่า 2% ติดต่อกัน 4 ไตรมาส และผลประกอบการที่แย่ของบริษัทจดทะเบียน กำไรสุทธิลดลง 11% ในปีที่ผ่านมา และไตรมาสแรกปีนี้ กำไร บจ.ก็ขยายตัวไม่ถึง 2% รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง

31 บจ.ซื้อหุ้นคืน 1.2 หมื่น ล.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากภาวะตลาดหุ้นไทยที่ซบเซา ดัชนีอยู่ในทิศทางขาลง ทำให้ปีนี้เห็นสัญญาณบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกาศโครงการ “ซื้อหุ้นคืน” เป็นจำนวนมาก จากการตรวจสอบข้อมูล SETSMART พบว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึง 27 มิ.ย. มีบริษัทจดทะเบียนประกาศซื้อหุ้นคืนแล้ว 31 บริษัท โดยใช้เงินลงทุนซื้อหุ้นคืนรวมทั้งสิ้น 12,023 ล้านบาท

โดยบริษัทที่ใช้เงินลงทุนซื้อหุ้นคืนมากที่สุด 10 อันดับแรก มูลค่าเงินลงทุนรวม 10,715 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) มูลค่า 2,904 ล้านบาท จำนวน 195 ล้านหุ้น จากเป้าหมาย 200 ล้านหุ้น ครบกำหนดซื้อคืนวันที่ 30 มิ.ย. 2567 2.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) มูลค่า 1,397 ล้านบาท จำนวน 171 ล้านหุ้น จากเป้าหมาย 450 ล้านหุ้น ครบกำหนดซื้อคืน 4 ก.ย. 2567 3.บมจ.พริมา มารีน (PRM) มูลค่า 1,194 ล้านบาท จำนวน 172 ล้านหุ้น จากเป้าหมาย 175 ล้านหุ้น ครบกำหนดซื้อคืนแล้วเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา

Advertisment

4.บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ใช้เงินซื้อหุ้นคืนมูลค่า 985 ล้านบาท จำนวน 65 ล้านหุ้น ครบกำหนดไปตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2567 5.บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) มูลค่า 771 ล้านบาท จำนวน 280 ล้านหุ้น ครบกำหนดซื้อคืนไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 6.บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) มูลค่า 733 ล้านบาท จำนวน 16 ล้านหุ้น จากเป้าหมาย 58 ล้านหุ้น ครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2567

7.บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) (TOA) ใช้เงินซื้อหุ้นคืนมูลค่า 718 ล้านบาท จำนวน 30 ล้านหุ้น จากเป้าหมาย 60 ล้านหุ้น ครบกำหนดซื้อคืนเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 8.บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) มูลค่า 716 ล้านบาท ครบตามเป้าหมาย 90 ล้านหุ้น 9.บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ใช้เงินซื้อหุ้นคืนจำนวน 487 ล้านบาท ครบตามเป้าหมาย 95 ล้านหุ้น และ 10.บมจ.ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ (III) ใช้เงินซื้อหุ้นคืนจำนวน 270 ล้านบาท ครบตามเป้าหมาย 25 ล้านหุ้น

MAJOR-COM7 เปิดแผนรอบใหม่

ขณะที่ MAJOR มีแผนเปิดโครงการซื้อหุ้นคืนรอบใหม่ 76.8 ล้านหุ้น โดยเริ่มซื้อหุ้นคืนตั้งแต่ 16 ก.ค. 2567-16 ม.ค. 2568 ขณะที่รอบที่แล้ว บริษัทไม่ได้ขายหุ้นคืนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ใช้วิธีลดทุนจดทะเบียน และล่าสุดที่ประชุมบอร์ด บมจ.คอมเซเว่น (COM7) อนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน 40 ล้านหุ้น วงเงินไม่เกิน 800 ล้านบาท เริ่มเข้าซื้อตั้งแต่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค. 2567

นอกจากนี้ยังมีบริษัทชื่อดังที่มีโครงการซื้อหุ้นคืนอีกหลายราย อาทิ บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M) มีแผนจะซื้อหุ้นคืน 20 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 24 มิ.ย.-23 ธ.ค. 2567, บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ (SITHAI) มีแผนซื้อหุ้นคืน 270 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 20 พ.ค.-19 พ.ย. 2567 ได้เข้าซื้อตลอดช่วงเดือน มิ.ย. และ บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) มีแผนซื้อหุ้นคืน 540 ล้านหุ้น ครบกำหนดซื้อคืน 4 ก.ย. 2567

Advertisment

พยุงหุ้น-ฟื้นเชื่อมั่น-บริหารเงินสด

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า 3 เหตุผลสำคัญที่บริษัทจดทะเบียนประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน คือ 1.ส่งสัญญาณให้นักลงทุนในตลาดทราบว่าตอนนี้ราคาหุ้นของบริษัทต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานมากเกินไป จากภาวะตลาดหุ้นไทยไม่ดี 2.ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และ 3.ต้องการบริหารเงินสดของบริษัท จากที่ไม่เห็นโอกาสในการลงทุนเพราะเศรษฐกิจชะลอตัว

“แต่ละบริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนได้ตลอด อยู่ที่เห็นว่าราคาหุ้นถูกเกินไปแล้วหรือยัง แต่จะต้องขอมติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยไม่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งที่บริหารเงินสด และทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าเงินสดที่บริษัทมีอยู่มาก กระจายให้นักลงทุนผ่านการซื้อหุ้นคืน ที่อาจทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีจ่ายเงินปันผลพิเศษ ซึ่งจะโดนเสียภาษี 10%”

โครงการซื้อหุ้นคืน แต่ละบริษัทจะประกาศจำนวนหุ้นซื้อคืน แต่จะไม่บอกราคาเพราะจะเป็นการชี้นำ และกำหนดกรอบเวลาซื้อคืน อาทิ 3 เดือน, 6 เดือน และ 9 เดือน แต่นักลงทุนจะชอบระยะเวลาสั้น ๆ มากกว่า เพราะบริษัทต้องเร่งซื้อคืน โดยตัวอย่างบริษัทที่ซื้อหุ้นคืนแล้วราคาหุ้นดีดตัวขึ้นได้ดี คือ SSP, PRM เพราะซื้อคืนทุกวันและซื้อในจำนวนที่เร่งขึ้น ส่วนกรณี BEM ที่ซื้อ ๆ หาย ๆ ทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นไม่มาก

นายณัฐพลกล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องรู้ก็คือว่า เมื่อบริษัทซื้อหุ้นคืนเสร็จสิ้นตามประกาศ จะถือหุ้นดังกล่าวได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น คืออย่างน้อย 6 เดือน และไม่เกิน 3 ปี ต้องขายออกไปในกระดานของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือขายบิ๊กลอตแก่นักลงทุนรายใหญ่ หรือเสนอขายผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ที่เป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจ โดยถ้าไม่นำหุ้นกลับมาขาย ก็ต้องลดทุนด้วยการตัดหุ้นจดทะเบียนที่ซื้อคืนทิ้งไป ซึ่งแนวทางนี้นักลงทุนจะชอบมากกว่า เพราะหนุนกำไรต่อหุ้น (EPS) ปรับตัวขึ้น จากจำนวนหุ้นที่ลดลง แต่ต้องเป็นบริษัทที่มีเงินสดมากจริง ๆ เพราะการตัดหุ้นทิ้งไป เงินก็หายไปด้วย

กระทบฟรีโฟลต-เงินหมุนเวียน

ด้านนายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การซื้อหุ้นคืนโดยปกติ ปัจจัยหลักเพื่อพยุงราคาหุ้น จากที่ปรับตัวต่ำเกินไปมาก ซึ่งแต่ละบริษัทจะนำเงินสดไปซื้อหุ้นตัวเองจากผู้ถือหุ้นอื่นๆ มาเก็บไว้เอง ทำให้จำนวนหุ้นที่ซื้อขายในตลาดลดลง ซึ่งการประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนมักจะประกาศช่วงที่ดัชนี SET ปรับตัวลง และราคาหุ้นของบริษัทนั้น ๆ ลงมาในจุดที่เห็นว่าเป็นโซนราคาที่ไม่ควรจะลงไปต่ำกว่านี้แล้ว

ประเด็นตรงนี้สะท้อนข้อดี คือ 1.บ่งชี้ว่าผู้บริหารมีความมั่นใจต่อบริษัทของตัวเอง และ 2.ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังคือ ด้วยความที่บริษัทนำเงินสดมาซื้อ อาจจะเสียโอกาสในการลงทุนกิจการหรือขยายธุรกิจ และสภาพคล่องของสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (ฟรีโฟลต) ของหุ้นตัวนั้น ๆ จะลดลง ตรงนี้จะส่งผลต่อหุ้นในกระดาน รวมทั้งมีผลต่อเงินหมุนเวียนในงบดุลของบริษัทด้วย

“ส่วนใหญ่แล้วบริษัทจดทะเบียนจะใช้เงินสดในกิจการมาซื้อหุ้นคืน ไม่ค่อยกู้เงินเพื่อมาซื้อ เพราะเมื่อซื้อไปแล้วต้องถืออย่างน้อย 6 เดือน ถ้าเกิดไปกู้มาก็ต้องเสียดอกเบี้ยอีก” นายธนกฤตกล่าว

TU โชว์ฐานะการเงินแกร่ง

ด้านนางสาวภิญญดา แสงศักดาหาญ หัวหน้าฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวว่า โครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินครั้งที่ 3 ในวงเงินไม่เกิน 3,600 ล้านบาท และไม่เกิน 200 ล้านหุ้น ที่บริษัทอนุมัติไปเมื่อต้นปี 2567 เพื่อแสดงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงช่วยเพิ่มกำไรต่อหุ้นให้ดีขึ้น โดยบริษัทได้ดำเนินการซื้อหุ้นคืนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว