ธปท. เผยเศรษฐกิจ พ.ค. ชะลอตัว ลุ้นเบิกจ่ายภาครัฐกระตุ้นเม็ดเงินสู่ระบบ

ปราณี สุทธศรี
ปราณี สุทธศรี

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคม 2567 ยังมีทิศทางฟื้นตัว แต่ชะลอจากเดือนก่อนหน้า หลังเครื่องชี้วัดหลายตัวเร่งไปก่อนหน้า ด้านส่งออก -1.7% ฉุดภาคการผลิต -0.6% ชี้แรงขับเคลื่อนมาจาก “ภาคท่องเที่ยว-บริการ” มองภาครัฐเร่งเบิกจ่าย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 2 เป็นต้นไป

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคมยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะชะลอลงบ้างหลังจากเร่งไปในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการคาดการณ์ โดยแรงขับเคลื่อนยังมาจากภาคการบริการและการท่องเที่ยว แต่ยังคงต้องติดตามภาคการส่งออกและภาคการผลิตที่ยังคงมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทช่วยกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป โดยรวมน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่ง ธปท.ยังคงติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งล่าสุดสัดส่วนการเบิกจ่ายยังคงเป็นไปตามคาดการณ์

ทั้งนี้ ธปท.คาดการณ์การใช้จ่ายภาครัฐในปี 2567 จะอยู่ที่ 1.8% และการลงทุนภาครัฐอยู่ที่ 3.6% โดย ธปท.ยังคงมีมุมมองเดิมหรือสูงกว่าคาดเล็กน้อย

“สรุปภาวะเศรษฐกิจเดือน พ.ค.ทิศทางฟื้นตัว แต่อาจจะชะลอบ้างเครื่องชี้วัด โดยเรายังคงต้องตามผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งเร่งขึ้นได้ตามคาดการณ์ หรือสูงกว่าคาดการณ์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากงบประมาณภาครัฐคิดเป็นสัดส่วน 22% ของจีดีพี รวมถึงต้องมาตรการภาครัฐ การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์”

Advertisment

นางปราณีกล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดภาวะการเงินในเดือนพฤษภาคม พบว่าภาคการส่งออกสินค้า (ไม่รวมทองคำ) ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า หดตัว -1.7% เป็นผลมาจากการเร่งตัวของการส่งออกทุเรียน และหมวดยานยนต์ส่งออกไปออสเตรเลียที่ชะลอตัว รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า-เครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้ภาคผลิตอุตสาหกรรมลดลง -0.6% จากเดือนก่อนหน้า แต่โดยรวมภาคการผลิตโดยรวมทั้งไตรมาสยังปรับเพิ่มขึ้น

การลงทุนภาคเอกชน ลดลง -3.0% โดยปรับลดลงทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ การก่อสร้าง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นด้านการลงทุนปรับลดลงทั้งภาคการผลิตและไม่ใช่ภาคการผลิต ด้านการบริโภคเอกชน ปรับเพิ่มขึ้น 0.3% มาจากหมวดบริการ

“ดัชนีความเชื่อมั่นปรับลดลงทั้งปัจจุบัน และในระยะ 6 เดือนข้างหน้า มาจากราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า ปัญหาภูมรัฐศาสตร์ ทำให้ผู้บริโภคกังวล แม้ว่าจะมีความเชื่อมั่นต่อการท่องเที่ยว ราคาพืชผล และมาตรการท่องเที่ยวเมืองรอง”

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ยังคงขยายตัวทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายรับ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนนี้ยังคงขยายตัวอยู่ที่ 2.6 ล้านคน มาจากนักท่องเที่ยวระยะใกล้ เช่น มาเลเซีย และจีน ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการวีซ่าฟรี ส่วนรายรับปรับเพิ่มขึ้น 4.1%

Advertisment

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูง และเข้ามามีบทบาทมากขึ้นหลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ผ่าน โดยรายจ่ายประจำขยายตัว 36.9% รายจ่ายการลงทุน 35.8% ตามการเร่งเบิกจ่ายหน่วยงานภาครัฐ และรายจ่ายรัฐวิสาหกิจ 13.3% มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 1.54% จากเดือนก่อนในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด จากผลของฐานค่าไฟฟ้าในปีก่อนที่ต่ำจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ และราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นตามการทยอยลดมาตรการของภาครัฐ ประกอบกับราคาเนื้อสัตว์และผักที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.05% จากเดือนก่อน 0.03% ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นจากการจ้างงานทั้งในภาคบริการและภาคการผลิต

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.7 พันล้านดอลลาร์ จากดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ของธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากการที่นักลงทุนเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับมีปัจจัยภายในประเทศเพิ่มเติม จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของเดือน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทยอยอ่อนค่าลง จากการสื่อสารของธนาคารกลางสหรัฐที่ทำให้ตลาดคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไป

“หากดูเครื่องชี้วัดหลายตัวเร่งไปก่อนหน้านี้ ทำให้เศรษฐกิจในเดือน พ.ค. ชะลอลงเล็กน้อย แต่หากดูแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยว แต่ภาคการส่งออกสินค้าและภาคผลิตอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวช้า”