เทียบ 3 กองทุนลดหย่อนภาษี ต่างกันยังไง กองไหนน่าซื้อ ?

กองทุน TESG

เทียบเงื่อนไข 3 กองทุนลดหย่อนภาษี แตกต่างกันยังไง กองไหนน่าซื้อ ภายหลังกระทรวงการคลัง ปรับเกณฑ์ TESG ให้จูงใจนักลงทุนมากขึ้น ด้าน FETCO เล็งเสนอต่ออายุ กองทุน SSF ดึงคนรุ่นใหม่

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยลดหย่อนภาษีให้เลือกมากมายตามเป้าหมายของแต่ละคน หนึ่งในวิธียอดฮิตคือ การลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF : Super Savings Fund) กองทุนรวมเพื่อการเลื้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund)

และมีอีกหนึ่งกองทุน นั่นคือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) ซึ่งเริ่มใช้เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดบางประการ ทำให้นักลงทุน ให้ความสนใจไม่มากนัก กระทรวงการคลังจึงได้ปรับเงื่อนไขของกองทุนรวม Thai ESG ใหม่ในปี 2567 เพื่อจูงใจให้คนลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ ประชาชาติธุรกิจ จะพาไปทำความรู้จักและเทียบเงื่อนไขกองทุน TESG กับกองทุน SSF และ RMF ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

1.กองทุน TESG

กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) คือ กองทุนที่ให้ความสำคัญในการลงทุนตามหลัก ESG ซึ่งประกอบด้วยมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ซึ่งมีสิทธิพิเศษให้ผู้ลงทุนสามารถนำจำนวนเงินลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

Advertisment

หลักเกณฑ์กองทุน TESG

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปรับเกณฑ์กองทุน TESG ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการส่งเสริมให้เกิดการออม ผ่านการลงทุนในตลาดทุน และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ระดมทุนให้ความสำคัญกับความยั่งยืน สำหรับเงื่อนไขใหม่ ที่เสนอปรับปรุงมีดังนี้

เกณฑ์เดิม

  • ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • ระยะเวลาถือครอง 8 ปี (นับจากวันที่ซื้อ)
  • นโยบายลงทุน ต้องลงทุนมากกว่า 80% ของ NAV ดังนี้

1.หุ้นใน SET/mai ที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ESG หรือเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก

2.ESG Bond

Advertisment

3.Green Token

เกณฑ์ใหม่

  • ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
  • ระยะเวลาถือครอง 5 ปี (นับจากวันที่ซื้อ)
  • นโยบายลงทุน ต้องลงทุนมากกว่า 80% ของ NAV ดังนี้

1.หุ้นใน SET/mai ที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ESG หรือเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก หรือระดับการประเมิน CG Rating ของ IOD และมีการเปิดเผยข้อมูลด้านบรรษัทภิบาล ในระดับ และรูปแบบที่ ก.ล.ต.กำหนด

2.ESG Bond

3.Green Token

4.หุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี ESG ที่ได้รับความเชื่อถือระดับสากล

2.กองทุน SSF

กองทุน SSF (Super Saving Funds) คือ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว พิเศษกว่ากองทุนรวมทั่วไปตรงที่รัฐบาลอนุญาตให้สามารถนำจำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยจะลดหย่อนแบบปีต่อปี ซื้อปีไหน ก็ลดหย่อนปีนั้น ในช่วงระยะเวลาปี 2563-2567

ลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม ฯลฯ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่ากองทุน LTF เดิมที่กำหนดให้ลงทุนในหุ้นสามัญภายในประเทศไทย

สิทธิประโยชน์

สามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้และไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (เช่น กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ไม่กำหนดจำนวนขั้นตํ่าในการซื้อต่อปี และไม่บังคับซื้อต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า มีแผนที่จะหารือกับกระทรวงการคลัง ถึงการต่ออายุ กองทุน SSF ซึ่งสิทธิในการซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีจะสิ้นสุดในปี 2567 นี้ เนื่องจากพบว่ามีนักลงทุนกลุ่มที่ให้ความสนใจกองทุน SSF เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการลงทุน

โดยต้องหารือถึงแนวทางการดำเนินการ ว่าจะทำอย่างไรให้กองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนที่คนสนใจมากขึ้นกว่าเดิม และเป็นจุดเริ่มต้นการลงทุนในตลาดทุนได้มากขึ้น

3. หลักเกณฑ์ RMF

  • ระยะเวลาถือครองลงทุนขั้นต่ำ 5 ปี และขายได้ตอนอายุครบ 55 ปี
  • นำเงินลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท
  • การลดหย่อนภาษีนับรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่น ๆ (กองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันชีวิตแบบบำนาญ แต่จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท)

เทียบ 3 กองทุนลดหย่อนภาษี

นโยบายการลงทุน

  • กองทุนรวม Thai ESG : ลงทุนในหุ้นกลุ่ม ESG ตราสารหนี้ ESG Bond รวมถึง Green Token
  • กองทุนรวม SSF : ลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท
  • กองทุนรวม RMF : ลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท

 เงื่อนไขการลงทุน

  • กองทุนรวม Thai ESG : ไม่กำหนดจำนวนเงินซื้อขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี
  • กองทุนรวม SSF : ไม่กำหนดจำนวนเงินซื้อขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี
  • กองทุนรวม RMF : ไม่กำหนดจำนวนเงินซื้อขั้นต่ำ แต่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปีหรืออย่างน้อยปีเว้นปี (นับเฉพาะปีที่มีรายได้) และต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

 เวลาที่ซื้อเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

  • กองทุนรวม Thai ESG : ใช้สิทธิซื้อลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี 2566-2575
  • กองทุนรวม SSF : ใช้สิทธิซื้อลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี 2563-2567 (รอประเมินผลอีกครั้งว่าจะต่ออายุหรือไม่)
  • กองทุนรวม RMF : เริ่มซื้อได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ หากนับเฉพาะกองทุนเพื่อการลดหย่อนภาษีทั้ง Thai ESG, SSF และ RMF เท่ากับว่าจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 800,000 บาท