ค่าเงินอ่อนค่าหนัก เหตุบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูง

ค่าเงิน การลงทุน

ค่าเงินอ่อนค่าหนัก เหตุบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูง

วันที่ 27 มิถุนายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/6) ที่ระดับ 36.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/6) ที่ระดับ 36.80/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าตามค่าเงินในภูมิภาค จากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์หลังจากบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับ 4.3% เมื่อคืนนี้ โดยการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดในขณะนี้ ซึ่งนักลงทุนจะจับตาดูการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล หรือ PCE ของสหรัฐในวันศุกร์นี้

ซึ่งดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญเนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI

นอกจากนี้นักลงทุนทั่วโลกจับตาดูการประชันวิสัยทัศน์หรือการดีเบตระหว่างนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ และนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อชิงคะแนนเสียงของชาวอเมริกันในคืนวันนี้ เวลา 21.00-22.30 น.ตามเวลาสหรัฐ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นวันที่ 5 พฤศจิกายน

Advertisment

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ กนง.เปิดภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง คาดมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยว, ส่งออก, การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ ที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลทั้งปีเศรษฐกิจไทยโตตามคาด 2.6%

ขณะเดียวกัน ยอมรับว่าห่วงการปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อจะกระทบเสถียรภาพด้านราคา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ ในระหว่างวัน ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.86-36.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัจจัยในภูมิภาค ทางจีนเปิดเผยกำไรของภาคอุตสาหกรรมในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบรายปี แตะที่ระดับ 2.75 ล้านล้านหยวน หรือ 378.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.3% ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน)

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/6) ที่ระดับ 1.0670/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/6) ที่ 1.0697/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรร่วงลงจากการพุ่งขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังคงเคลื่อนไหวไร้ทิศทางเนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลเดือนพฤษภาคมในวันศุกร์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ในสัปดาห์นี้ ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี จะเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อ

Advertisment

นอกจากนี้ นักลงทุนจะรอดูผลการเลือกตั้งรัฐสภาฝรั่งเศสรอบแรกในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ขณะที่ปัจัยในภูมิภาค อังกฤษจะเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในสัปดาห์นี้ และอาจตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ หรือ BoE ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนสิงหาคม

โดยบรรดานักลงทุนจะจับตาดูการเลือกตั้งรัฐสภาอังกฤษในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ และคาดว่า BOE จะระงับการเปิดเผยรายงานการประชุมก่อนการเลือกตั้ง โดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0678-1.0699 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0697/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/6) ที่ระดับ 160.00/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/6) ที่ 159.97/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวันนี้ว่า นายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะมีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเปิดเผยยอดค้าปลีกประจำเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 2% ในเดือนเมษายน โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 160.32-60.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 160.48/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.ของ EU, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐไตรมาส 1/67, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ค.สหรัฐ , ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอการปิดขายเดือน พ.ค. สหรัฐ (27/6), อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.(ประมาณการเบื้องต้น) ของฝรั่งเศส (28/6), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน พ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (ประมาณการณ์ครั้งสุดท้าย) (28/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.35/-9.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.50/-6.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ