สิงคโปร์เล็งดึงธนาคาร-ค่ายมือถือร่วมเยียวยาเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ภาพประกอบจาก unsplash โดย firmbee.com
ภาพประกอบจาก unsplash โดย firmbee.com

สิงคโปร์เล็งดึงสถาบันการเงินอย่างธนาคาร รวมถึงค่ายมือถือมาร่วมเยียวยาเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ด้วย Shared Responsibility Framework หวังบีบให้เข้มงวดมาตรการป้องกัน พร้อมบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหายด้วยการเยียวยาที่อาจสูงถึง 100% ของมูลค่าความเสียหาย

วันที่ 26 มิถุนายน 2024 สิงคโปร์เตรียมนำ Shared Responsibility Framework (SRF) หรือกรอบการดำเนินงานที่จะดึงสถาบันการเงิน อย่างธนาคารผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ เช่น Grab รวมไปถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมาร่วมเยียวยาผู้เสียหายจากการหลอกลวงออนไลน์ มาบังคับใช้ในช่วงปลายปี 2024 นี้

โดย Shared Responsibility framework นี้มาจากการเสนอร่วมกันของธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) และองค์การพัฒนาสื่อสารสนเทศของสิงคโปร์ เมื่อปี 2023 หวังรับมือกับการแพร่ระบาดของการหลอกลวงออนไลน์ ที่มีทั้งผ่านโทรศัพท์ แอปแชต โซเชียลมีเดีย ฯลฯ

ซึ่งตามข้อมูลของ กรมตำรวจสิงคโปร์ เมื่อปี 2023 มีการหลอกลวงออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ ถึง 50,376 คดี สร้างมีความเสียหายถึง 651.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 1.76 หมื่นล้านบาท

จุดประสงค์หลัก 2 ด้านของ Shared responsibility framework คือกระตุ้นให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องมีและเพิ่มมาตรการป้องกันการหลอกลวงโดยมิจฉาชีพให้เข้มงวดยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยให้ผู้เสียหายมีโอกาสได้รับการเยียวยามากขึ้น เนื่องจากมีกลุ่มธุรกิจใหญ่อย่างสถาบันการเงินและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเข้ามาร่วมเยียวยา

Advertisment

เหยื่ออาจได้รับเยียวยาถึง 100%

ด้านการร่วมเยียวยาเหยื่อนั้น จะใช้แนวคิด Waterfall Approach ซึ่งสถาบันการเงินจะเป็นผู้มีหน้าที่เยียวยาอันดับแรก เนื่องจากอยู่ในฐานะผู้ดูแลเงินของลูกค้า อันดับต่อมาคือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ จากการเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยของการชำระเงินทางดิจิทัล โดยระดับการเยียวยาอาจสูงถึง 100% ของความเสียหาย

โดยการเยียวยานี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขคือ สถาบันการเงินและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือล้มเหลวในการป้องกันการหลอกลวงของมิจฉาชีพ เช่น ไม่แจ้งเตือนการโอนเงินออกจากบัญชีให้ลูกค้าทราบ ปล่อยให้เบอร์ของมิจฉาชีพหลุดรอดจากระบบคัดกรอง เป็นต้น รวมถึงมาตรการอื่น ๆ

ไม่รวมมัลแวร์ (Malware)

อย่างไรก็ตาม Shared Responsibility Framework นี้ไม่ครอบคลุมการหลอกลวงที่ใช้มัลแวร์ (Malware) ซึ่ง 2 หน่วยงานผู้เสนอร่างให้เหตุผลว่า การหลอกลวงด้วยมัลแวร์ยังเป็นสิ่งใหม่และมาตรการลดความเสี่ยงด้านนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนา จึงยังเร็วเกินไปที่จะกำหนดหน้าที่ของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในเรื่องนี้

คาดเตรียมบังคับใช้ปลายปี 2024 นี้

ทั้งนี้ สำนักข่าว The Straits Times รายงานว่า Shared Responsibility Framework ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์ และประชาชนแล้ว โดยอยู่ระหว่างปรับแก้ร่าง คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้ในช่วงปลายปี 2024 นี้

Advertisment

การผลักกรอบการดำเนินงานนี้เป็นความพยายามล่าสุดของภาครัฐของสิงคโปร์ที่จะสกัดภัยคุกคามของการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งรวมถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังจากก่อนหน้านี้มีมาตรการต่าง ๆ ออกมาต่อเนื่อง เช่น เมื่อปี 2020 เคยเปิดตัวแอป Scam Shield ช่วยปิดกันการ โทร.และ SMS จากมิจฉาชีพ

ส่วนเมื่อปี 2023 ออกข้อกำหนดให้บริษัท หรือหน่วยงานที่จะส่ง SMS ต้องลงทะเบียนในฐานข้อมูล IMDA หากไม่ลง SMS ที่ส่งจะถูกติดป้าย “อาจเป็นมิจฉาชีพ”

รวมถึงออกกฎหมายเอาผิดกับผู้ที่ให้มิจฉาชีพนำ Sim โทรศัพท์ไปใช้ หรือให้มิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนตัวไปลงทะเบียน Sim, ผู้จัดหา-รวบรวม Sim ให้มิจฉาชีพ ไปจนถึงร้านค้าที่ลงหรือรับลงทะเบียน Sim ด้วยข้อมูลปลอมหรือถูกขโมยมา เป็นต้น