ธปท.เตือนปรับกรอบเงินเฟ้อเสี่ยงทำเศรษฐกิจไม่สมูท ชี้ กรอบปัจจุบันทำหน้าที่ได้ดี

ธปท.ยันกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ทำหน้าที่ได้ดี และเงินเฟ้อคาดการณ์ยึดเหนี่ยวในระดับ 2% คาดกลับเข้ากรอบเป้าหมายภายในไตรมาส 4/67 ย้ำการปรับกรอบเงินเฟ้อพึงระวังกระทบรายได้กลุ่มเปราะบาง-เสี่ยงทำเศรษฐกิจไม่สมูท

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวใน “Monetary Policy Forum” ครั้งที่ 2/2567 กล่าวว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ถือว่าทำหน้าที่ได้ดี ซึ่งการปรับเปลี่ยนกรอบเงินเฟ้ออาจจะต้องพึงระวัง เพราะหากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงเกินไปจะทำลายเรื่องของรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจสะดุดได้ อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางของไทยคงที่อยู่ที่ระดับ 2% ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้ากรอบภายในไตรมาสที่ 4/2567 โดยมีการคาดการณ์จากหน่วยงานต่าง ๆ ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนจะอยู่ที่ระดับกว่า 1% ซึ่งหากดูแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อไปตามคาดการณ์ของ ธปท.ยังสอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย 1-3% ซึ่งหากย้อนไปในปี 2565 เงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคม สูงถึง 8% และใช้เวลาราว 7 เดือนในการกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ สะท้อนว่ากรอบเงินเฟ้อปัจจุบันทำหน้าที่ได้ดี และเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวในระดับ 2%

ทั้งนี้ การกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกมีการกำหนด เพื่อให้เอื้อกับการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับศักยภาพ หากอัตราเงินเฟ้อสูงจะทำให้เกิดความผันผวนมาก และภาคธุรกิจ ประชาชนจะวางแผนได้ยากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งไม่ได้แปลกประหลาด เนื่องจากจีนเข้ามาแข่งขันในด้านการค้าโลก ทำให้ไทยเจอแรงกดดันในด้านการแข่งขันสินค้าหลายหมวดได้รับแรงกดดัน

อย่างไรก็ตาม จากแรงกดดันดังกล่าวส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ และประเทศเพื่อนบ้านต่ำเช่นกัน แต่อาจจะมีบางประเทศที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งประเทศเหล่านั้นก็มองว่าเป็นปัญหา แต่อาจจะมีปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อสูงได้ แต่ข้อดีของไทยคือ เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางเฉลี่ย 2% เหมาะสมกับประเทศ

Advertisment

“เงินเฟ้อแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพราะสาเหตุแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เช่น ต้นทุนเรื่องที่อยู่อาศัย หากเทียบสหรัฐ เฉลี่ยอยู่ที่ 4% กว่า แต่ของไทย 2.2% เนื่องจากเรามีซัพพลายเยอะ หรือต้นทุนเหล็กและปูนของเราสูง และระยะหลังเราเริ่มลดลง ดังนั้น เราไม่ได้เซตดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเฟ้อให้ต่ำ และในลักษณะเงินเฟ้อในปัจจุบันจะเข้ากรอบเป้าหมายเงิน และกรอบเป้าหมายเราทำหน้าที่ได้ดี”