คลังระดมมาตรการปลุกหุ้น ตลาดทุนเด้งรับ-เชื่อมั่นพุ่ง

glo
พิชัย ชุณหวชิร

รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ-เร่งฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย ปรับเงื่อนไข กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) เพิ่มแรงจูงใจซื้อหุ้นไทย “พิชัย” รมว.คลังลุยปั๊มเศรษฐกิจโต 3% เล็งฟื้น “กองทุนรวมวายุภักษ์” 500,000 ล้านปลุกตลาด เดินหน้า 14 มาตรการยาแรงคุมเทรดหุ้นไม่พึงประสงค์ตลาดทุนขานรับเตรียมชงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ดันอสังหาฯ-อุ้มรายย่อย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า เมื่อเย็นวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ร่วมกันแถลง “มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุนไทย”

“พิชัย” ปลุกเชื่อมั่น ศก.ไทย

โดยนายพิชัยกล่าวยอมรับว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประสิทธิภาพ (Performance) ของหุ้นที่จดทะเบียนใน SET ไม่สามารถที่จะตอบสนองให้ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) วิ่งขึ้นไปแตะระดับ 1,800 จุด ตามที่คาดหวังได้ เนื่องจากประเทศอยู่ในช่วงที่เพิ่งผ่านพ้นสถานการณ์กดดันหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบโควิด-19 การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น

เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับสูงนาน รวมถึงเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งมีผลอย่างมากต่อธุรกิจ SMEs และส่งผลกระทบมาถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่

โดยเศรษฐกิจไทยย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566) เฉลี่ยแล้วเติบโตเพียงแค่ 0.4% ต่อปี “ซึ่งฟังแล้วน่าตกใจ” แต่ถ้าย้อนหลังไปก่อนหน้านั้นอีกประมาณ 5 ปี (ช่วงก่อนโควิด) เศรษฐกิจไทยเติบโตได้กว่า 3% ต่อปี ดังนั้นภาพเศรษฐกิจไทยโดยพื้นฐานไม่ควรเติบโตต่ำกว่าระดับ 3.5% ส่วนปีนี้ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยคาดว่า จะเติบโตระหว่าง 2.4-2.5% และอาจจะเร่งการเติบโตขึ้นไปใกล้ ๆ ระดับ 3% หรือที่ระดับ 3% ได้ และปี 2568 คาดหวังว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้กว่า 3% ซึ่งเป็นการเติบโตตามปกติ (Base Case) โดยยังไม่ใส่ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเข้าไป

Advertisment

ชูนโยบายสำคัญด้านเศรษฐกิจ

นายพิชัยกล่าวว่า มองไปข้างหน้าเห็นว่าควรจะต้องแก้ปัญหาภาคเกษตร เพราะปีที่ดี ๆ เคยมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 11% แต่หลังจากนั้นต่ำลงตลอด โดยไทยมีโอกาสในเรื่องไบโอเทค หากทำได้สำเร็จเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีสาระสำคัญ นอกจากนี้ยังมีนโยบายสำคัญอีก 2 เรื่อง คือ 1) การผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ต้องชวนผู้ผลิตเข้ามาลงทุน คาดว่าผลกระทบต่อภาษีคงอีกไม่นาน

กับ 2) การผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเซ็กเตอร์นี้เคยส่งออกได้มาก แต่ตอนนี้สู้ต่างชาติไม่ได้แล้ว โดยต้องเปิดเจรจา ขณะนี้ก็เริ่มมีหลายรายเข้ามาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันประเทศไทยเป็น Data Base พลังงานสีเขียว และต้องการคนที่มีทักษะ “นโยบายเหล่านี้จะเกิดได้แน่ แต่ยังค่อนข้างใช้เวลา ซึ่งนั่นก็แปลว่าแนวโน้มมีความหวังว่าประเทศไทยจะมีโอกาสเห็นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ที่โตระดับ 5% ได้”

ปรับ TESG ปลุกลงทุนหุ้นไทย

ในส่วนมาตรการด้านตลาดทุน จะมีการปรับเงื่อนไข “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG)” โดยลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี จากเดิม 8 ปี และเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดเป็น 300,000 บาท จากเดิม 100,000 บาท คาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ และสามารถเริ่มใช้ได้ในปีภาษี 2567 เพราะขณะนี้ อธิบดีกรมสรรพากรได้ดำเนินการเรื่องนี้ไว้เสร็จหมดแล้ว โดยจะสามารถออกขายกองทุนได้ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2567 เป็นต้นไป

“ในช่วงระยะเวลา 4-5 เดือนของปีนี้ ค่อนข้างมั่นใจว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท จากรายได้ที่รัฐบาลจะสูญเสียไปประมาณ 13,000 ล้านบาท จากการพูดคุยกับภาคเอกชน และจากการวิเคราะห์ข้อมูลวิจัย ต้องบอกว่าระยะเวลาถือครอง 5 ปี และวงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุด 300,000 บาท มีผลอย่างมากที่จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาสู่ ตราสารสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือตราสารหนี้ แต่หลัก ๆ จะมีผลโดยตรงกับหุ้น ดังนั้นจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความแข็งแรงขึ้น จากเม็ดเงินลงทุนระยะยาวเข้ามาถ่วงสมดุลกันกับเม็ดเงินลงทุนระยะสั้น” นายพิชัยกล่าว

Advertisment

นอกจากนี้ การออก TESG ในช่วงนี้ถือเป็นจังหวะดีที่จะได้ประโยชน์ช่วงที่ราคาหุ้นน่าสนใจ ขณะเดียวกันได้ประโยชน์ทางภาษี โดยสิ่งที่รัฐจะได้คือ คนที่มีความมั่นคงทางการเงินสูงขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ดี เป้าหมายสำคัญคือ อยากจะเห็นคนไทยมีเงินออมนอกเหนือจากการฝากเงินผ่านธนาคาร “ส่วนเดิมที่จะมีการฟื้นกองทุน LTF เพื่อกระตุ้นตลาดทุนนั้นพบว่า มีจุดอ่อนอยู่ในเรื่องระยะเวลาการถือครองที่นานเกินไป และความเสี่ยงของหุ้นที่หลากหลาย”

ตีปี๊บฟื้น “กองวายุภักษ์” 5 แสน ล.

นายพิชัยกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการปรับเงื่อนไข กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน TESG แล้ว ส่วนตัวยังมีแนวคิดที่จะฟื้น “กองทุนรวมวายุภักษ์” ซึ่งเคยเป็นที่นิยมมาก ออกมาไม่พอจำหน่าย โดยกองทุนรวมวายุภักษ์ในอดีตเป็นกองทุนเปิดจดทะเบียนใน SET แบ่งออกเป็น หน่วย ก. (สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป) และหน่วย ข. (สำหรับกระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่น) โดยผู้ลงทุนทั่วไปจะได้รับผลตอบแทนตามจริง มีขั้นต่ำต่อปี/ขั้นสูงต่อปีเป็นเวลา 10 ปี และได้รับชำระคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือ หน่วย ข. ตามแนวชำระคืนที่มีลักษณะเป็น Waterfall (ขั้นต่ำของผลตอบแทนการลงทุน)

“หมายความว่า ผู้ลงทุนจะได้รับการประกันระดับต่ำก่อน เช่น ผลตอบแทน 3% และหากระดับสูง เช่น ผลตอบแทนที่ 7-9% ส่วนกรณีหากผลตอบแทนต่ำกว่า 3% ก็จะได้รับชำระคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วย ข. ตามแนวชำระคืน Waterfall อย่างไรก็ดี บลจ.ที่จะบริหารกองทุนนี้แทนภาครัฐ คงจะต้องเลือกหน่วยลงทุนที่มี Performance ที่ดี เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเรื่อง Waterfall โดยมองว่า การสร้างหน่วยลงทุนขึ้นมาใหม่จะเป็นการสร้างเงินออมให้กับประเทศด้วย”

“หมายความว่า ผู้ลงทุนจะได้รับการประกันระดับต่ำก่อน เช่น ผลตอบแทน 3% และหากระดับสูง เช่น ผลตอบแทนที่ 7-9% ส่วนกรณีหากผลตอบแทนต่ำกว่า 3% ก็จะได้รับชำระคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วย ข. ตามแนวชำระคืน Waterfall อย่างไรก็ดี บลจ.ที่จะบริหารกองทุนนี้แทนภาครัฐ คงจะต้องเลือกหน่วยลงทุนที่มี Performance ที่ดี เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเรื่อง Waterfall โดยมองว่า การสร้างหน่วยลงทุนขึ้นมาใหม่จะเป็นการสร้างเงินออมให้กับประเทศด้วย”

เบื้องต้นมีเม็ดเงินลงทุน กองทุนรวมวายุภักษ์ หน่วย ข. อยู่จำนวน 3.5 แสนล้านบาท หากจำหน่ายกองทุนรวมวายุภักษ์ใหม่แก่ผู้ลงทุนทั่วไป คาดวงเงินประมาณ 1.5 แสนล้านบาท จะทำให้รวมมีเงินลงทุน 2 กองนี้ราว 500,000 ล้านบาท “เรื่องนี้ผมเพิ่งคิดได้เมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้ก็เริ่มมอบหมายงานให้ไปทำการศึกษาเพิ่ม โดยกำลังพิจารณารูปแบบกองทุนว่าควรจะเป็นอย่างไร ที่จะดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น เบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 3/2567 เพราะเกณฑ์ใหม่ของกองทุน TESG ให้ไปศึกษาไม่เกิน 2 เดือน ก็สามารถสรุปเงื่อนไขใหม่ได้”

เพิ่มมาตรการยาแรงคุมเทรดหุ้น

ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯยังมีมาตรการกำกับตลาดหุ้นที่จะทยอยออกมา ถือได้ว่าเป็นยาแรงพอสมควรด้วย โดยนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า มาตรการขับเคลื่อนการลงทุนจะควบคู่กับการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายในปัจจุบัน “ทั้งจากการขายชอร์ตและโปรแกรมเทรดดิ้ง” ที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) ผลักดันมาตรการต่าง ๆ และเร่งรัดให้เกิดการดำเนินการที่คำนึงถึงผลกระทบในหลายด้านอย่างรอบคอบ และให้มีการดำเนินการอย่างชัดเจน

โดยกลุ่ม 1 ที่เกี่ยวกับมาตรการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหุ้น ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2567 ได้แก่ 1) ทบทวนหลักทรัพย์ที่ชอร์ตเซลได้ กรณี Non-SET100 ต้องมีขนาดมาร์เก็ตแคปมากกว่า 7,500 ล้านบาท (จากเดิม 5,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ต้องมี Turnover เฉลี่ย 12 เดือน ที่ 2% (จากเดิมไม่กำหนด) และ 2) เพิ่มให้ขายชอร์ตในทุกหลักทรัพย์ได้ที่ “ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick)” จากปัจจุบันให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero-plus Tick)

มาตรการที่จะบังคับใช้ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2567 ประกอบด้วย 1) การเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้น หรือ Dynamic Price Band โดยกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของราคา (ที่แคบกว่า Ceiling & Floor) เอาไว้ เพื่อไม่ให้ราคาผันผวนเร็วเกินไป และ 2) เพิ่มมาตรการให้ซื้อขายด้วย Auction สำหรับหลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 เพื่อใช้ควบคุมการกำกับดูแลหุ้นที่มีความผันผวนหรือการเคลื่อนไหวของราคาที่ผิดปกติ

ถัดมาสำหรับกลุ่ม 2 ที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม โดยจะบังคับใช้วันที่ 1 ก.ค. 2567 ประกอบด้วย 1) การเปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้แก่บริษัทหลักทรัพย์สมาชิกทุกราย

และ 2) กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและลูกค้าที่ใช้โปรแกรมเทรดดิ้งรูปแบบการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูง (HFT) และใช้ SET Colocation (ติดตั้งเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเชื่อมต่อส่งคำสั่งซื้อขาย) จะถูกกำกับดูแล โดยกำหนดต้องยื่นคำขอและไฟลิ่งข้อมูล (Register) ที่เกี่ยวข้องให้สามารถเห็นข้อมูลผู้ลงทุนในระดับ Subaccount ของ Omnibus Account ทั้งนี้จะมีข้อตกลงว่า ถ้ามีพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสมจะมีการระงับการซื้อขายผ่านช่องทางนี้ก็ได้

ส่วนมาตรการที่จะบังคับใช้ช่วงไตรมาส 3/2567 ได้แก่ 1) กำหนดเวลาขั้นต่ำของ Order ก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) ไว้ที่ 0.250 วินาที (250 Milliseconds) เพื่อป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กรณีส่งคำสั่งซื้อและส่งคำสั่งขายและถอนออกเร็ว ๆ และกำหนดคำสั่งที่มีการแก้ไขหรือยกเลิกก่อนเวลาดังกล่าวจะถูกปฏิเสธ (Reject) โดยระบบทันที

และ 2) เพิ่มคุณภาพการตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์ อาทิ การทำ Know Your Process ลูกค้าตัวกลาง, ตรวจสอบการมีหุ้นก่อนส่งคำสั่ง, มีระบบ Post Trade Monitoring ธุรกรรมชอร์ตเซลและลองชอร์ต และปรับปรุงระบบรับส่งคำสั่งให้มีประสิทธิภาพ

และมาตรการที่จะบังคับใช้ช่วงไตรมาส 4/2567 ได้แก่ 1) จัดให้มี Central Platform ในการ Check หลักทรัพย์ก่อนขาย โดยสรุปแนวทางการจัดทำแหล่งข้อมูลกลาง สำหรับบริษัทสมาชิกและตลาดหลักทรัพย์ฯในการตรวจสอบ Availability ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนก่อนขาย ต่อมามาตรการที่จะบังคับใช้ช่วงไตรมาส 1/2568

คือ 1) เพิ่มมาตรการให้ซื้อขายด้วย Auction สำหรับหลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 เพื่อใช้ควบคุมการกำกับดูแลหุ้นที่มีความผันผวนหรือการเคลื่อนไหวของราคาที่ผิดปกติ “ช่วงต้นปี 2568 จะมีการจัดให้มี Central Order Screening เพื่อเป็นระบบกลางในการคัดกรองคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม เพื่อบริหารความเสี่ยงในการส่งคำสั่งซื้อขาย”

นายภากรกล่าวว่า สำหรับการซื้อขายชอร์ตและการใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง เบื้องต้นจะต้องมีการพูดคุยในรายละเอียดบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและการพัฒนาระบบ

สุดท้ายในกลุ่ม 3 ที่เกี่ยวกับการเพิ่มความคุ้มครองนักลงทุน โดยจะบังคับใช้ช่วงไตรมาส 3/2567 คือ การเพิ่มบทระวางโทษบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกให้สูงขึ้น 3 เท่า โดยเพิ่มโทษในกรณีที่ บล.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขายชอร์ตและโปรแกรมเทรดดิ้งให้สูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 3 เท่า

บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด

ขณะที่ นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯจะติดตามผลของการดำเนินการ และมีการทบทวนมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้มั่นใจว่า พฤติกรรมการกระทำผิดในลักษณะที่เข้าข่ายการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์

เมื่อเกิดขึ้นจะมีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และระดับความรุนแรงของความผิดจะสูงขึ้น “ก.ล.ต.เตรียมแก้กฎหมายเพื่อดูแลการขายชอร์ตตลอดสาย โดยให้ผู้ลงทุนมีหน้าที่และรับผิดชอบเมื่อฝ่าฝืนเกณฑ์และมีกลไกการเปิดเผยข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตรวจสอบ รวมถึงเพิ่มการทำหน้าที่ของ Custodian ในฐานะ Gatekeeper ให้ใส่วัตถุประสงค์การโอนหุ้นมาเพื่อการตรวจสอบได้เข้มงวดมากขึ้น”

เปิดเงื่อนไขใหม่ TESG

นางพรอนงค์กล่าวถึง กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) ที่เปิดขายตอนเดือน ธ.ค. 2566 เพียงแค่เดือนเดียวจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาประมาณ 6,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มีการหารือร่วมกันได้ข้อสรุปว่า ควรปรับภายใต้เงื่อนไขใหม่ คือ 1) สามารถลดหย่อนภาษีได้ในอัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินและซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท จากเดิมได้แค่ 100,000 บาท 2) มีระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปีนับจากวันที่ซื้อ จากเดิมต้องถือครอง 8 ปี

3) มีนโยบายการลงทุน ต้องลงทุนมากกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ซึ่งจากเดิม ลงทุนหุ้นใน SET/mai ที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (E)/ESG หรือเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 128 บริษัท แต่เงื่อนไขใหม่ให้เพิ่มลงทุนในหุ้นที่มีระดับการประเมิน CG Rating ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และมีการเปิดเผยข้อมูลด้านบรรษัทภิบาล (G) และรูปแบบที่ ก.ล.ต.กำหนด และหุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี ESG ที่ได้รับความเชื่อถือระดับสากล ได้อีกไม่ต่ำกว่า 200 บริษัท ส่วนการลงทุนใน ESG Bond และ Green Token ยังเหมือนเดิม

ตลาดทุนขานรับมาตรการรัฐ

ด้านนายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า การปรับเกณฑ์ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) จะสามารถปลุกความเชื่อมั่นตลาดทุนได้ดีในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่มองว่าสำคัญและเป็นประโยชน์ก็คือ การตั้ง “กองทุนวายุภักษ์ใหม่” เนื่องจากเป็นกองทุนที่ลงทุนได้กว้างมากขึ้น

และเป็นกองทุนที่คาดว่าจะเน้นลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทย มุ่งลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ถือเป็นการถือหุ้นที่คลังจะได้ลงทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การที่จะมีกองทุนเอื้อสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นการปิดเงื่อนไขบางอย่าง เช่น อาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ข้อกังวลเกี่ยวกับรายได้ภาครัฐที่จะหายไป

“สิ่งที่รัฐแถลงทั้งหมดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุนนั้น ผมมองว่าเป็นความพยายามที่ดีที่สุดแล้วของข้อจำกัดในปัจจุบัน เนื่องจากการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมาจูงใจนักลงทุนได้เพียงระดับหนึ่ง พอมองว่าอาจจะไม่เพียงพอ จึงมีแนวความคิดเรื่องตั้งกองทุนวายุภักษ์ขึ้นใหม่ ซึ่งสะท้อนว่ากระทรวงการคลังเล็งเห็นถึงปัญหาต่าง ๆ สุดท้ายเห็นถึงความพยายามภายใต้ข้อจำกัดของการออกมาตรการ” นายประกิตกล่าว

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า เชื่อว่าแนวทางขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยที่นำเสนอน่าจะสร้าง Sentiment เชิงบวก และดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นได้เพิ่มเติม การปรับเงื่อนไขกองทุน TESG ใหม่ มาในเวลาที่เหมาะสมได้พอดี

เพราะที่ระดับ SET Index ในปัจจุบัน การประเมินมูลค่า (Valuation) ที่น่าสนใจมาก หลังดัชนีเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ทยอยเพิ่มขึ้น ทั้งยังมี P/E เพียง 14.3 เท่า “ถือว่าต่ำ” และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) 3.5% น่าจะจูงใจให้เม็ดเงินไหลเข้ามาในกองทุน TESG ใหม่และตลาดหุ้นได้มากขึ้นในช่วงนี้

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับ LTF มองว่า TESG ระยะเวลาการถือครองเพียง 5 ปี “สั้นกว่ากองทุนประหยัดภาษีทั้งหมด” และกระจายตัวซื้อในเวลาไหนของปีก็ได้ ถือว่าดีกว่า LTF ที่ถือครอง 7 ปีปฏิทิน เพราะช่วยแก้ปัญหาเม็ดเงิน ไม่จำเป็นต้องไปกระจุกตัวซื้อกันในช่วงเดือน ธ.ค. เหมือน LTF ในอดีตที่มีแรงซื้อเกือบ 45% อยู่ในเดือนนี้ และแรงซื้อกว่า 65% กระจุกตัวเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ของปี จึงมองว่า TESG อาจจะช่วงพยุงตลาดในช่วงเวลาหุ้นตกหนักได้ดี

นอกจากนี้ หลังจากที่ไม่มี LTF มานาน นักลงทุนต่างหันไปลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศ ทำให้มีกองทุนที่เป็นสินทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ล้าน เชื่อว่าถ้ามี TESG ก็อาจจะหนุนให้เม็ดเงินดังกล่าวสลับเข้ามาซื้อได้ “ด้านการฟื้นกองทุนวายุภักษ์นั้น หุ้นส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่รัฐบาลถือเป็นเจ้าของเป็นหลัก นับเป็นกองทุนที่ใหญ่มาก จากที่ตั้งเพดานไว้ 5 แสนล้านบาท และปัจจุบันมีอยู่ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะระดมทุนขายหน่วยลงทุนให้ประชาชน 1.5 แสนล้านบาท ดังนั้น เชื่อว่าจะช่วยหนุนเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นได้มากยิ่งขึ้น” นายภราดรกล่าว

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเข้ามาว่า นอกจากมาตรการกระตุ้นตลาดหุ้นแล้ว กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอีกหลาย ๆ มาตรการ ทั้งที่เกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์และการช่วยเหลือประชาชนรายย่อย ซึ่งคาดว่าจะทยอยเสนอให้ ครม.อนุมัติต่อไป