ดอลลาร์อ่อนค่าจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร จับตา PCE

Double exposure of money with cityscape blurred building background.

ดอลลาร์อ่อนค่าจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร จับตา PCE

วันที่ 25 มิถุนายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 36.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/6) ที่ระดับ 36.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ภายหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงหลังดีดขึ้นในช่วงแรก

ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทะยานกว่า 300 จุดในวันจันทร์ โดยได้รับปัจจัยบวกจากการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ นักลงทุนจะจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ รวมถึงดัชนี PCE ที่จะมีการเปิดเผยวันศุกร์

โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานจะปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.7% ในเดือน เม.ย. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานคาดว่าจะปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปีจากระดับ 2.8% ในเดือน เม.ย. และเมื่อเทียบรายเดือนจะปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือน พ.ค. จากระดับ 0.2% ในเดือน เม.ย.

สำหรับปัจจัยในประเทศ ภาวะตลาดตราสารประจำสัปดาห์ (1-21 มิ.ย.) ปริมาณการซ์้อขายมีมูลค่ารวม 354,664 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 70,933 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 22% โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในตราสารระยะยาว ประมาณ 2-7 bps

Advertisment

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.56-36.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.62/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปัจจัยอื่น ๆ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยกำไรภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน พ.ค.ของจีนในวันพฤหัสบดี (27/6) นี้ และผลสำรวจด้านการผลิตในวันอาทิตย์ (30/6) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจของจีน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/6) ที่ระดับ 1.0734/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/6) ที่ระดับ 1.0718/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ยูโรแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ส

สำหรับปัจจัยด้านการเมืองในยุโรป นายฌอง-ฟิลิปป์ ต็องกี สส.พรรคเนชันแนลแรลลี ฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวว่า หากพรรค RN ภายใต้การนำของนางมารีน เลอ แปน ชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ ทางพรรคจะยุติการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณที่ทำมาหลายทศวรรษ และจำยึดมั่นในกฎระเบียบทางการคลังของสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ นายต็องกี ถือเป็นกำลังสำคัญในด้านนโยบายการเงินของพรรค RN ถือเป็น 1 ในตัวเต็งที่จะได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หากพรรค RN ซึ่งมีนโยบายต่อต้านผู้อพยพสามารถครองเสียงข้างมากเด็ดขาดได้ในการเลือกตั้ง 2 รอบในวันที่ 30 มิ.ย. และ 7 ก.ค.นี้

Advertisment

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Ifo เผยรายงานการสำรวจเมื่อวานนี้ว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจเยอรมนีลดลงผิดคาดในเดือน มิ.ย.สืบเนื่องจากมุมมองในแง่ลบที่มีมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ โดยอยู่ที่ระดับ 88.6 ลดลงจาก 89.3 ในเดือน พ.ค. และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 89.7

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจะรอดูอังกฤษเปิดเผยข้อมูล GDP ในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ และจะระมัดระวังในการซื้อขายก่อนการเลือกตั้งรัฐสภาอังกฤษในวันที่ 4 ก.ค. ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.071-1.0743 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0729/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/6) ที่ระดับ 159.55/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/6) ที่ระดับ 159.63/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันจันทร์นายมาซาโตะ คันดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นยืนยันว่า ญี่ปุ่นพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงตลาดทุกเวลา หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นหลังจากค่าเงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานสรุปความเห็นของกรรมการในวันจันทร์ระบุว่า ในการประชุมนโยบายการเงินเดือน มิ.ย.นั้น กรรมการ BoJ ได้หารือกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยกรรมการรายหนึ่งเรียกร้องให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ต้องรอเวลา เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในรายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า กรรมการ BoJ ได้เน้นย้ำถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น

ซึ่งทำให้ BoJ จำเป็นต้องหารือกันเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยเร็วที่สุดในการประชุมครั้งต่อไปซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 30-31 ก.ค. ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 159.18-159.70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 159.44/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.ออสเตรเลีย (26/6), ราคาบ้านเดือน เม.ย.จาก S&P ของสหรัฐ (26/6), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.ของ EU, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐไตรมาส 1/67, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ค. สหรัฐ,

ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอการปิดขายเดือน พ.ค. สหรัฐ (27/6), อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. (ประมาณการเบื้องต้น) ของฝรั่งเศส (28/6), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน พ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (ประมาณการครั้งสุดท้าย) (28/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.00/-9.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.4/-7.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ