เร่งคดีโกงหุ้น STARK “เยียวยา-ฟื้นความเชื่อมั่น” ผู้ลงทุน

STARK stock fraud

ในที่สุด คดีที่เขย่าขวัญนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ปีที่แล้วอย่าง “คดี STARK” ก็ดูมีทีท่าว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อปรากฏภาพ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คุมตัว นายชนินทร์ เย็นสุดใจ “ตัวละครสำคัญ” อดีตผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กลับมาดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายได้แล้ว หลังหลบหนีไปกบดานอยู่ในต่างประเทศนาน 7-8 เดือน

ภาพดังกล่าว ทำให้ผู้เสียหายจากคดี “โกงหุ้นประวัติศาสตร์” ดังกล่าว ดูมีความหวังมากขึ้น

โดยนายชนินทร์ เป็น 1 ใน 11 ราย (ลอตแรก 10 และเพิ่มเติมอีก 1 รายภายหลัง) ที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ กรณีตกแต่งงบการเงินของบริษัท เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง มูลค่าความเสียหายนับหมื่นล้านบาท

ดีเอสไอแจ้ง 6 ข้อหา “ชนินทร์”

หลังรับตัวนายชนินทร์จากสนามบินสุวรรณภูมิ ทางดีเอสไอได้แจ้ง 6 ข้อหาสำคัญกับนายชนินทร์ทันที ประกอบด้วย 1.ฉ้อโกงทรัพย์สินประชาชน 2.กระทำความผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 3.การปลอมแปลงบันทึกบัญชีเป็นเท็จ 4.ผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท ไม่ระมัดระวัง 5.กระทำการทุจริต และ 6.ฟอกเงิน

ขีดเส้น 1 เดือน เช็กเส้นทางเงิน

โดยหลังคุมตัวได้แล้ว ทางดีเอสไอได้นำตัวนายชนินทร์ให้พนักงานอัยการดำเนินการส่งฟ้องต่อศาลอาญา และล่าสุด ดีเอสไอได้ประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อดำเนินการในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว

Advertisment

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ขอเวลา 1 เดือน เพื่อสรุปความชัดเจนเกี่ยวกับ “เส้นทางเงิน” ทั้งหมด

11 ตัวละครสำคัญเอี่ยวคดี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผู้เกี่ยวข้องในคดีหุ้น STARK ที่ถูกสำนักงาน ก.ล.ต.กล่าวโทษ ทั้งสิ้น 11 ราย โดยลอตแรกที่ถูกกล่าวโทษกรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564-2565 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ

รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล Factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง มี 10 ราย ได้แก่

1) บริษัท STARK (2) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (3) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ (4) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี (5) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ (6) นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม (7) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) (8) บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) (9) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (10) บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

Advertisment

และต่อมา สำนักงาน ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษเพิ่มอีก 1 ราย คือ นายประกรณ์ เมฆจำเริญ

ฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย

ทั้งนี้ จากภาพที่รัฐบาลส่ง นายจักรพงศ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรับตัวนายชนินทร์ ร่วมกับดีเอสไอ รวมถึงสำนักงาน ก.ล.ต. สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับคดีนี้ ประกอบกับต่อมาที่มีภาพการตั้งโต๊ะแถลง “มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน”

โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พร้อมกับ นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. และ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็เป็นการชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนให้กลับมา

ขณะที่ นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ กำลังพยายามฟื้นความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมไทย เนื่องจากไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตามจับตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีออกนอกประเทศ จึงเห็นได้ถึงความพยายามที่จะฟื้นฟูทั้งระบบยุติธรรมและฟื้นฟูเรื่องความเชื่อมั่นในระบบการลงทุนในประเทศ

“ส่วนกระบวนการในระยะถัดไป คงยังต้องใช้เวลาอีกนาน เนื่องจากนายชนินทร์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ขณะที่การอายัดทรัพย์สินนั้น ก็อายัดได้เพียงระดับหนึ่ง”

เร่งทำคดี-เยียวยาผู้เสียหาย

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า การควบคุมตัว นายชนินทร์ อดีตผู้บริหาร STARK ได้ในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือบูรณาการกันทั้ง Value Chain ของกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย หลังจากที่สำนักงาน ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษผู้ต้องหาในคดีหุ้น STARK และได้ส่งข้อมูลต่าง ๆ ให้กับตำรวจ ดีเอสไอ ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้ ทางดีเอสไอกำลังประสานรวบรวมข้อมูลส่งอัยการทำสำนวนฟ้อง ขณะที่สำนักงาน ปปง.อยู่ระหว่างขยายผลจากเส้นทางการเงินและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีเพิ่มเติม

“ก.ล.ต.มีความชัดเจนในเรื่องการเอาคนผิดมาดำเนินการทางกฎหมายในทุกกรณี ถึงแม้ว่า ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษไปแล้ว แต่ก็ไม่นิ่งนอนใจ มีทีมประสานร่วมมืออย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าไปดูแลให้สำนวนมีความแน่นหนา รวมทั้งสนับสนุนด้านข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ เพิ่มเติม ที่ทางตำรวจกำลังรวบรวมข้อมูลกันอยู่”

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวอีกว่า หากมีการสั่งฟ้อง จะไปต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรม ก็เชื่อว่าผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ผู้ซื้อหุ้นกู้ STARK นักลงทุนสถาบัน (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน) และผู้ถือหุ้น STARK ทั้งนี้ ในเรื่องของการเยียวยามีหลายเงื่อนไข อาทิ ภายใต้กฎหมาย ปปง. ที่อายัดและยึดทรัพย์สินไว้ ก็จะมีการนำไปชดใช้เฉลี่ยคืนกับผู้เสียหายต่อไป

ตอนนี้ก็ต้องบอกว่า “ตัวละครสำคัญ” ถูกควบคุมตัวไว้ได้ทั้งหมดแล้ว ซึ่งจากนี้ก็คงเป็นเรื่องคดีความที่ต้องต่อสู้กันต่อไป ส่วนจะออกมารูปไหน คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด