คลังยันขยายเวลา “ต่างชาติ” ครองอสังหาฯ 99 ปีไม่ใช่นโยบายขายชาติ

อสังหา

จุลพันธ์ รมช.คลัง เผยนโยบายขยายเวลาชาวต่างชาติครองอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเป็น 99 ปี ไม่ใช่นโยบายขายชาติ ชี้เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เปิดช่องจูงใจต่างชาติ ยันไม่กระทบสิทธิสภาพอาณาเขตบนพื้นดิน

วันที่ 25 มิถุนายน 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีเกิดข้อถกเถียงหลังรัฐบาลมีแนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์ โดยการแก้กฎหมายให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดินเพิ่มเป็น 99 ปี และการถือกรรมสิทธิ์ห้องชุด เพิ่มสัดส่วนเป็น 75% ว่าการดำเนินเรื่องดังกล่าว เป็นหนึ่งในแนวความคิดที่ต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนมากขึ้น และไม่ได้เป็นการให้สิทธิขาดกับต่างชาติแต่อย่างใด

โดยปัจจุบันสิทธิของการเช่าอยู่ที่ 30 ปี และในกรณีพื้นที่พิเศษขยายเป็น 50+50 ปี ยืนยันว่าไม่ได้เป็นนโยบายขายชาติ เพราะพื้นที่ สิทธิสภาพ สิทธิอาณาเขตบนพื้นดินของเราไม่ได้หายไป

ซึ่งการดำเนินการแก้กฎหมายนั้น เป็นเพียงการเปิดช่องจูงใจให้ต่างชาติเข้ามามากขึ้น ซึ่งข้อเสนอการมีสิทธิเช่าที่ดิน 99 ปีนั้น จะต้องให้หน่วยงานที่ข้อเกี่ยวข้องทำข้อเสนอมาก่อน ส่วนสิทธิคอนโดฯนั้นได้มีการเพิ่มสัดส่วนเรื่องการถือครอง แต่ไม่ได้มอบสิทธิการออกเสียงของนิติบุคคล ฉะนั้น จึงมองว่าไม่น่ามีผลกระทบต่อสิทธิสภาพบนพื้นดินของเรา

“รัฐบาลไม่ค่อยชอบสังคมอีแอบอยู่แล้ว อย่างที่นายกรัฐมนตรีได้เคยพูด เราต้องยอมรับความจริงว่าในสภาพปัจจุบันก็มีต่างชาติที่มีการถือครองที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือถือครองเกินกว่า 49% โดยใช้รูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นการหลบเลี่ยงอยู่แล้วส่วนหนึ่ง ตรงนี้ก็ต้องยอมรับตามจริงว่ามี และต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เป็นโลกไร้พรมแดน และทุกคนเป็นพลเมืองของโลก” รมช.คลังกล่าว

Advertisment

ทั้งนี้ ประเทศไทยในปัจจุบัน มีการกระตุ้นการลงทุน การจ้างงานภายในประเทศในระดับที่ใช้ได้ อย่างไรก็ตาม การที่จะดึงต่างชาติเข้ามาบางส่วนก็เป็นประโยชน์ และไม่มีผลกระทบต่อการจ้างงานของคนไทย ซึ่งต้องการสร้างให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ระดับโลก มีการดึงดูดนักท่องเที่ยว คนต่างประเทศที่มีสกิลจำเพาะเพื่อมาพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ โดยเปิดรับการลงทุน เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น

ส่วนปัญหาที่มองว่าหากต่างชาติเข้ามาซื้อมากขึ้น อาจส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นนั้น มองว่า ปัญหาไม่ใช่เรื่องราคาแพงหรือไม่ แต่ปัญหาคือ เริ่มมีอาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ทำให้ซัพพลายที่มีอยู่ไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายโอนได้ ฉะนั้น กลไกการแก้กฎหมายดังกล่าว นอกจากจะช่วยกระตุ้นแล้ว เรายังจะมาดูเรื่องสินเชื่อ ช่วยให้คนไทยเข้าไปถือครองได้

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของกระทรวงมหาดไทยที่รับผิดชอบจะต้องไปศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงการคลัง ดังนั้น ข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องต่าง ๆ จึงต้องรอการศึกษาให้เรียบร้อยก่อน ว่าแนวคิดดังกล่าวมีผลรอบด้านอย่างไร ค่อยกลับมาสรุปกันอีกครั้ง เพื่อเสนอกลับเข้าไปให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง