โบรกฯหั่นกำไร AOT ปี’68-72 เฉลี่ย 4% สะท้อนขอคืนพื้นที่สนามบิน

ภาพอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

บล.เอเซีย พลัส หั่นกำไร AOT ปี’68-72 ต่ำลงจากประมาณการเดิมเฉลี่ย 4% สะท้อนการขอคืนพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ-ภูเก็ต ชี้ราคาหุ้นผันผวนช่วงสั้น สะท้อนความไม่แน่นอนสัญญา Duty free คาดหวังราคาหุ้นฟื้นตัวได้อีก 6 เดือนข้างหน้าจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด รายงานว่า เมี่อ 21 มิ.ย. 2567 บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) รายงานผ่านตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับการขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการของผู้ประกอบการ (บจก.คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี) และส่วนราชการบางส่วน ที่สนามบินสุวรรณภูมิราว 1.1 พันตารางเมตร และภูเก็ต 491 ตารางเมตร เพื่อนำมาพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่พักคอยมากขึ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2567

โดย AOT ประเมินผลกระทบจากการขอคืนพื้นที่ข้างต้น จะส่งผลต่อรายได้ค่าเช่า 1 ล้านบาทต่อเดือน และอาจส่งผลให้ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ช่วงปีสัญญา 2567-2568 ที่สุวรรณภูมิลดลง 74 ล้านบาทต่อเดือน และที่ภูเก็ตลด 19 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจากการ Site visit สนามบินดอนเมืองวานนี้ องค์ประกอบรวม
ผลกระทบทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 1.1 พันล้านบาทต่อปี หรือราว 3-4% ของประมาณการกำไรปี 2568-2572 เดิม

ทั้งนี้ ทางผู้บริหารบริษัท เปิดเผยว่า ส่วนลดของค่าตอบแทนขั้นต่ำ (minimum guarantee ต่อคน) ที่เกิดขึ้น อิงตามพื้นที่ ที่ขอคืน ซึ่งที่สุวรรณภูมิ คิดเป็น 8% ของพื้นที่ตามสัญญาทั้งหมดกว่า 1 หมื่นตารางเมตร และภูเก็ตประมาณ 20% ของพื้นที่ตามสัญญาประมาณ 2 พันกว่าตารางเมตร (สัญญาส่วนแบ่งผลประโยชน์ในสนามบินของ AOT หลัก ๆ ถูกกำหนดด้วยขั้นต่ำ หรือ 15-20% ของรายได้
ผู้ประกอบการ แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า)

สำหรับรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ทั้ง 6 สนามบิน งวดครึ่งปีแรกของปีนี้เพิ่ม 132% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท (สัดส่วน 35% ของรายได้รวมงวดครึ่งปีแรกของปีนี้ : สัดส่วนราว 50-60% มาจากกลุ่มคิง เพาเวอร์) เมื่อนำมาเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการ 6 สนามบินของ AOT ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 195 บาทต่อคน (งวดครึ่งปีแรกของปีที่แล้วที่ 104 บาทต่อคน และงวดปี 2562 ที่ 124 บาทต่อคน)

Advertisment

ภาพรวมฝ่ายวิจัยคาดการณ์ ผลกระทบจากการปรับลดสัญญาขั้นต่ำจะส่งผลให้ขั้นต่ำของสัญญาหลัก duty free ที่สุวรรณภูมิ จาก 233 บาท มาอยู่ที่ราว 215 บาท ต่อผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1 คน และทำให้ค่าเฉลี่ยส่วนแบ่งผลประโยชน์ต่อหัวปี 2568-2572 ลดลงจากสมมุติฐานปัจจุบัน 5% มาที่เฉลี่ย 200 บาทต่อคน

โดยสัญญา duty free ยังมีความไม่แน่นอนจากกระแสข่าวการยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาเข้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของพื้นที่ตามสัญญา กรณีที่เกิดขึ้นฝ่ายวิจัยประเมินผลกระทบทางพื้นฐานและราคาหุ้นใกล้คียงกับการขอคืนพื้นที่ครั้งนี้

ปรับลดกำไรปี’68-72 เฉลี่ย 4%

ด้วยกำไรงวดครึ่งแรกปีนี้ (ต.ค. 2566-มี.ค. 2567) เท่ากับ 1 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 347% YOY) คิดเป็นสัดส่วน 57% ของประมาณการฝ่ายวิจัยปี 2567 ที่ 1.85 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 100% YOY) ประกอบกับผลจากการให้ส่วนลดจะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค. จึงรับรู้ผลกระทบเพียงไตรมาสเดียว ทำให้มองว่าประมาณการทั้งปียังสอดคล้อง ภายใต้แนวโน้มคครึ่งปีหลังต่ำกว่าครึ่งปีแรก หลังผ่านฤดูกาลท่องเที่ยว

จึงคงประมาณการเดิมสำหรับปี 2568-2572 บนมุมมองอนุรักษนิยม ปรับลดรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ ตามการประเมินที่ได้กล่าวในช่วงต้น และให้มีผลต่อเนื่องตลอดการทำประมาณการ ภายใต้สมมุติฐานรายได้อื่น ๆ รวมทั้ง OPEX ใกล้เคียงเดิม จะส่งผลให้กำไรปกติปี 2568-2572 ต่ำลงจากประมาณการเดิมเฉลี่ย 4%

Advertisment

โดยฝ่ายวิจัยคาดกำไรปกติปี 2568-2569 ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 16% YOY) และ 2.5 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 18% YOY) ตามลำดับ หนุนด้วยแนวโน้มผู้โดยสารระหว่างประเทศปี 2568-2569 ที่ 77 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 10% YOY) และ 85 ล้านคน (+10% YOY) ตามนโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติของภาครัฐ ในขณะที่การขยายตัวของรายได้ ประเมินผลักดันมาร์จิ้นดีขึ้น เพราะ OPEX ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่

ทั้งนี้ ประมาณการกำไรปกติยังไม่รวม โอกาสในการปรับเพิ่มค่าบริการผู้โดยสารขาออก หรือ PSC (สัดส่วน 36% ของรายได้รวมงวดครึ่งแรกปีนี้) เพื่อชดเชย OPEX ที่เพิ่มขึ้นจาก SAT 1 และ Runway 3 ที่สุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ราคาหุ้นผันผวนช่วงสั้น

ภายใต้ประมาณการใหม่ อิง DCF ปรับ WACC จาก 6.1% เป็น 6.2% ผ่าน market risk premium สะท้อนความไม่แน่นอนของสัญญา Duty free และ Terminal Growth Rate 3% ให้ราคาเป้าหมายปี 2567 ใหม่ที่ 68 บาท (เดิม 74 บาท) ราคาหุ้นวานนี้ปรับฐานใกล้เคียงกับดาวน์ไซด์ต่อประมาณการ แต่ยังอาจเห็นความ
ผันผวนของราคาหุ้นได้ช่วงสั้น จากโอกาสในการถูกปรับลดประมาณการจากตลาด

อย่างไรก็ตามคาดหวังการฟื้นตัวของราคาหุ้นได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้าจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว หนุนกำไรตั้งแต่ช่วง ต.ค. 67-มี.ค. 68 กลับมาฟื้นตัว เทียบจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ด้าน ROE ปี 2568-2570 เป็นขาขึ้นอยู่ที่เฉลี่ย 18% สูงกว่าหุ้นท่องเที่ยวในไทยอื่น ๆ ประกอบกับระยะยาวแผนขยายสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ช่วยผลักดันการเติบโตของปริมาณผู้โดยสาร คงคำแนะนำ Outperform

ประเด็นความเสี่ยงสำคัญ

1. การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวแตกต่างจากที่มอง ย่อมส่งผลถึงรายได้จากกิจการการบินและที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน ตรงข้ามกับค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่คงที่ โดยรายได้รวมปี 2567-2568 ที่ลดลง (เพิ่มขึ้น) 10% (ปี 2569-2572 คงเดิม) บนสมมุติฐานอื่นคงเดิม จะส่งผลให้กำไรปกติปี 2567-2568 ลดลง (เพิ่มขึ้น) ราว 26%
ตามลำดับ ส่วนราคาเป้าหมายอิง DCF (FCFF ปี 2567-2572) ลดลง (เพิ่มขึ้น) ราว 1 บาท

2. กรณีคู่ค้าเชิงพาณิชย์ มีการปรับแก้สัญญา โดยทุก 10% ของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่ต่ำกว่าสมมุติฐานปี 2567-2572 บนสมมุติฐานอื่นคงเดิม ส่งผลให้กำไรปกติปี 2567-2572 ต่ำลงเฉลี่ยราว 9% และราคาเป้าหมายอิง DCF (FCFF ปี 2567-2572) ลดลงประมาณ 6 บาท

3. Norm Profit Margin ปี 2567-2568 ที่ลดลง (เพิ่มขึ้น) 2% จากสมมุติฐานปัจจุบันเฉลี่ยที่ 30% (ปี 2559-2562 โดย Norm profit margin มีการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ย 2%) จะส่งผลให้กำไรปกติปี 2567-2568 ลดลง (เพิ่มขึ้น) เฉลี่ยประมาณ 6% ส่วนราคาเป้าหมายอิง DCF (FCFF ปี 2567-2572) ลดลง (เพิ่มขึ้น) 1 บาท