ดอลลาร์สหรัฐย่อตัว นักลงทุนรอรับปัจจัยใหม่

US Dollars ดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: U.S. dollar banknotes REUTERS/Dado Ruvic

ดอลลาร์สหรัฐย่อตัว หลังปรับตัวแตะระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 8 สัปดาห์เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน นักลงทุนรอรับปัจจัยใหม่ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ตลาดยังจับตาดูปัจจัยทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะคดีถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคดียุบพรรคก้าวไกล

วันที่ 24 มิถุนายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/6) ที่ระดับ 36.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/6) ที่ระดับ 36.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์

โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแตะระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 8 สัปดาห์เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน เนื่องจากข้อมูลบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ รวมถึงการที่เฟดยังคงไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งตรงข้ามกับธนาคารกลางอื่น ๆ ที่ผ่อนคลายนโยบายการเงินมากกว่า

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจ เอสแอนด์พีโกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหรือ PMI รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นสหรัฐปรับตัวขึ้้นสู่ระดับ 54.6 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือน จากระดับ 54.5 ในเดือน พ.ค. ดัชนี PMI ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

สำหรับปัจจัยในประเทศตลาดยังคงจับตาดูปัจจัยทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะคดีถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งยังต้องรอความชัดเจนในเดือน ก.ค. 2567

Advertisment

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (21/6) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พ.ค. 2567 พบว่าการส่งออกมีมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.2% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 25,563.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.7% ส่งผลให้เดือน พ.ค. ไทยเกินดุลการค้าอยู่ที่ 656.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 2567) การส่งออกของไทยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 120,493.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.6% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 125,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5% ส่งผลให้ไทยยังคงขาดดุลการค้า 5,460.7 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมประเมินว่า การส่งออกเดือน มิ.ย.ยังเป็นบวกได้ต่อเนื่อง และทำให้ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ราว 2%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ไว้ที่ 1-2% ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.61-36.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยในภูมิภาค สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานว่า การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีนลดลง 10.1% ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ลดลง 9.8% ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. แม้ว่าทางการจีนได้ออกมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ และกระตุ้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคแล้วก็ตาม ส่วนยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. ของจีนลดลง 20.3% เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ลดลง 20.2% ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ขณะที่ตัวเลขการเริ่มสร้างใหม่ลดลง 24.2% ในช่วง เดือน ม.ค.-พ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ลดลง 24.6% ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/6) ที่ระดับ 1.0691/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/6) ที่ระดับ 1.0692/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0681-1.0717 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0718/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ในภูมิภาค สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยในวันศุกร์ (21/6) ว่า ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. ปรับตัวขึ้น 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ฟื้นตัวหลังจากที่ร่วงลง 1.8% ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษเผชิญฝนตกหนักและทำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการออกไปจับจ่ายใช้สอย

อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. ขยายตัวแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% ขณะที่เมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค.ปรับตัวขึ้น 1.3% ซึ่งฟื้นตัวหลังจากที่ร่วงลง 2.3% ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ผู้บริโภคชาวอังกฤษได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อสูง โดยอัตราเงินเฟ้อเพิ่งจะชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางอังกฤษที่ระดับ 2% ในเดือนที่ผ่านมา หลังจากพุ่งขึ้นเหนือระดับดังกล่าวเป็นเวลากว่า 3 ปี นอกจากนี้ ค่าจ้างเฉลี่ยในอังกฤษกำลังเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าเงินเฟ้อ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน เม.ย.ก็ฟื้นตัวแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/6) ที่ระดับ 159.84/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/6) ที่ระดับ 158.81/84 ในวันศุกร์ กระทรวงการคลังสหรัฐได้เพิ่มญี่ปุ่นในบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกจับตา (Monitoring List) เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดีสหรัฐไม่ได้ระบุว่าญี่ปุ่นหรือคู่ค้ารายใด ๆ มีพฤติกรรมปั่นค่าเงิน

ขณะที่นายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น เปิดเผยในวันเดียวกันว่า ญี่ปุ่นจะยังคงสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐ และประเทศอื่น ๆ เกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและการที่สหรัฐเพิ่มชื่อญี่ปุ่นในบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกจับตานั้น ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐมองว่านโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่นมีปัญหา เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นถูกรวมอยู่ในบัญชีดังกล่าวโดยอัตโนมัติ เช่น ดุลการค้าทวิภาคี ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 157.60-157.92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 157.69/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุกิจเดือนมิถุนายนจากสถาบัน Ifo ของเยอรมนี (25/6), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. ออสเตรเลีย (26/6), ราคาบ้านเดือน เม.ย. จาก S&P ของสหรัฐ (26/6), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. ของ EU, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ,

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐไตรมาส 1/67, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ค. สหรัฐ, ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอการปิดขายเดือน พ.ค. สหรัฐ (27/6), อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. (ประมาณการเบื้องต้น) ของฝรั่งเศส (28/6), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน พ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (ประมาณการครั้งสุดท้าย) (28/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.3/-9.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.6/-5.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ