ย้อนตำนานคดีโกงหุ้น STARK หลังจับกุม “ชนินทร์ เย็นสุดใจ”

STARK

ย้อนตำนานคดีโกงหุ้น STARK หลังจับกุม “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” จากที่สร้างประวัติศาสตร์ฉาว จนสั่นสะเทือนตลาดทุนไทยครั้งสำคัญ เพราะเป็นการปฏิบัติการโกงครั้งใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย จนเกิดวิกฤตเชื่อมั่น

วันที่ 24 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กลับมาเป็นที่สนใจของประชาชนอีกครั้งในช่วงเวลานี้ หลังเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัว นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหาร STARK กลับมาดำเนินคดีที่ไทยได้สำเร็จ หลังหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศนานเกือบ 1 ปี

โดยการกลับมาของ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ต้องถือว่าจุดความหวังให้กับผู้เสียหาย โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นรายย่อย ที่ขณะนี้ต่างกำลังต่อสู้คดีในชั้นศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย และเอาผิดกับผู้บริหารที่ร่วมกัน ตกแต่งบัญชีงบการเงิน และยักยอกทรัพย์สินของบริษัทไปหลายหมื่นล้าน

ล่าสุดทางด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน กล่าวว่า ดีเอสไอได้แจ้ง 6 ข้อหาสำคัญต่อ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ประกอบด้วย 1.ฉ้อโกงทรัพย์สินประชาชน 2.กระทำความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 3.การปลอมแปลงบันทึกบัญชีเป็นเท็จ 4.ผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท ไม่ระมัดระวัง 5.กระทำการทุจริต และ 6.ฟอกเงิน

โดยวันนี้ (24 มิ.ย. 2567) เวลา 13.00 น. พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะนำตัว นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ส่งอัยการ ซึ่งดีเอสไอยังคงสอบสวนเพิ่มเติมคดีฟอกเงิน โดยขอเวลา 1 เดือน จะเห็นความชัดเจนใครที่รับโอนเงินไปบ้าง

Advertisment

สำหรับคดีหุ้น STARK พบว่ามีการตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชนให้ได้รับความเสียหายกว่า 15,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาดีเอสไอสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 11 คน หนึ่งในนั้นคือ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ แต่หลบหนีออกประเทศไป ก่อนจะควบคุมตัวได้เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา

ย้อนตำนานคดีโกงหุ้น STARK

ทั้งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปย้อนตำนานคดีโกงหุ้น STARK ที่สร้างประวัติศาสตร์ฉาวจนสั่นสะเทือนตลาดทุนไทยครั้งสำคัญ เพราะเป็นการปฏิบัติการโกงครั้งใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย จนเกิดวิกฤตเชื่อมั่นในตลาดทุนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

โดยจากที่บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้เปิดเผยงบการเงินประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 ซึ่งผู้สอบบัญชี (PwC) ตรวจพบปัญหาการตกแต่งบัญชีหลายรายการ โดยการสร้างยอดรอเรียกเก็บหนี้จากลูกค้าปลอม ยอดขายปลอม และสร้างรายการจ่ายเงินซื้อสินค้าล่วงหน้า ให้กับบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งสมอ้างเป็นบริษัทคู่ค้า โดยไม่มีการซื้อขายหรือจ่ายเงินจริง คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 26,816 ล้านบาท

โดยธุรกรรมอำพรางทั้งหมดเกี่ยวพันกับ 3 บริษัทย่อยของ STARK คือ 1.บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) 2.บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) และ 3.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS)

Advertisment

โดยพบว่า “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริงสูงถึง 24,452 ล้านบาท ตามมาด้วย “อดิสรสงขลา” มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริง 1,045 ล้านบาท และ “ไทย เคเบิ้ลฯ” อีกมูลค่า 689 ล้านบาท

ส่งผลให้ตลอดช่วง 2 ปี ที่มีการตกแต่งบัญชีและโอนเงินให้บริษัทร่วมขบวนการ STARK มีผลขาดทุนรวมมากกว่า 12,640 ล้านบาท โดยในปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 5,989 ล้านบาท และในปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท

ความเสียหายหลายหมื่นล้าน

กรณีของ STARK ถือเป็นกรณีสร้างความเสียหายมากที่สุดกรณีหนึ่ง ทั้งความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นกู้ และผู้ถือหน่วยลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยจากมูลค่าหุ้นที่ลดลงจากที่เคยมีมูลค่าสูงสุด 60,000 ล้านบาท เหลือไม่ถึง 2,000 ล้านบาท (19 มิ.ย. 2566) โดยเฉพาะความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย ไปถึงผู้ถือหน่วยกองทุนรวมที่เข้าไปลงทุนในหุ้น STARK รวมทั้งผู้ถือหุ้นกู้ 5 ชุด อีกหลายพันราย วงเงินรวม 9,198 ล้านบาท และธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่ปล่อยสินเชื่อไปอีกราว 8,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเปิดเผยงบการเงิน STARK พบว่ามีการทำธุรกรรมอำพรางโยกย้ายเงินไปที่บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กว่า 10,000 ล้านบาทนั้น ซึ่งหมายเหตุประกอบงบฯระบุว่า บริษัทดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK

ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็คือ “นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK และเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมของบริษัท เอเชีย แปซิฟิกฯ ด้วย อย่างไรก็ดี นายวนรัตช์ได้มีการชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯว่า กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำผิดที่อยู่ภายใต้อำนาจของอดีตผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่มีส่วนรับรู้และจัดการ

ปฏิบัติการโกงครั้งใหญ่

แหล่งข่าวกล่าวว่า รายการที่ทำให้ STARK เกิดปัญหาและเจ๊งคือ รายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้า มูลค่า 10,451 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 ซึ่งหากย้อนไทม์ไลน์จะพบว่าเป็นช่วงที่ STARK มีการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้กับนักลงทุนสถาบัน 12 ราย วงเงิน 5,580 ล้านบาท และออกหุ้นกู้ลอตใหม่เสร็จสิ้น ได้เงินมาทั้งหมดกว่าหมื่นล้านบาท แต่ทำไมธุรกิจเจ๊ง แล้วเงินหายไปไหน

“เหตุการณ์การโกงของ STARK คนที่เซ็นเอกสารใครมอบอำนาจ และคนที่มอบอำนาจจะรับรู้หรือไม่รับรู้กับการโกงครั้งนี้ แต่สะท้อนถึงความหละหลวมตั้งแต่ต้น ซึ่งจริง ๆ เคส STARK ไม่เคยเจอที่เป็น บจ. ในตลาดหุ้น แต่เคยเจอบ้างในธุรกิจเอสเอ็มอีที่มียอดขาย 100 ล้านบาทต่อปี ที่มีการตั้งบริษัทอีกแห่งขึ้นมาซื้อขายเพื่อผ่องถ่ายกำไร”

ที่มารื้อ กม. สังคายนา “ตลาดทุน”

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นเป็นหนึ่งในกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอดีตประธาน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ มือกฎหมายธุรกิจ ได้กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ไว้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่ากระบวนการตรวจสอบข้อมูลของตลาดทุนมีจุดอ่อน ทำให้เกิดช่องโหว่ที่เปิดช่องให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทำการทุจริต

ตั้งแต่การทำงานของคณะกรรมการบริษัท ผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งจะพบว่ากรณีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกรรมอำพรางในต่างประเทศ เช่น เคส EARTH ก็เป็นการทำดีลซื้อเหมืองที่อินโดนีเซีย ทำให้กระบวนการตรวจสอบข้อมูลยุ่งยากมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญต้องเร่งกระบวนการเอาคนโกงมาลงโทษให้เร็วที่สุด และยับยั้งความเสียหาย สำนักงาน ก.ล.ต. ต้องประสานการทำงานกับ ปปง. ดีเอสไอ ทำคดีอย่างรวดเร็ว เพราะจากความผิดที่เกิดขึ้นก็น่าจะถือว่าเป็นการฉ้อโกง หน่วยงานต่าง ๆ ต้องเทกแอ็กชั่นอย่างรวดเร็วเพื่อปกป้องความเสียหายของนักลงทุน

“ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมากระบวนการทางกฎหมายเพื่อเอาคนโกงมาลงโทษนั้นใช้เวลานานเป็นปี หรือหลายปี หรือผู้กระทำผิดหลบหนีไปแล้ว แนวทางคือต้องมีการบูรณาการการทำงานของ ก.ล.ต. ปปง. ดีเอสไอ เป็นคณะทำงานร่วม”

เปิด 14 มาตรการยกระดับกำกับตลาดหุ้น

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ในฐานะโฆษก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนเมื่อ 25 เม.ย. 2567 ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ดำเนินการยกระดับมาตรการกำกับดูแลตลาดหุ้นเพื่อยกระดับความเชื่อมั่น ซึ่งมีทั้งหมด 14 มาตรการดังนี้

1.ให้ขายชอร์ตในทุกหลักทรัพย์ได้ ที่ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) จากปัจจุบันให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero-plus Tick) โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2567

2.เพิ่มมาตรการให้ซื้อขายด้วย Auction สำหรับหลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย เลเวล 2 เพื่อใช้ควบคุมการกำกับดูแลหุ้นที่มีความผันผวนหรือการเคลื่อนไหวของราคาที่ผิดปกติ

3.กำหนดเวลาขั้นต่ำของ Order ก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) ไว้ที่ 0.250 วินาที (250 Milliseconds) เพื่อป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กรณีส่งคำสั่งซื้อและส่งคำสั่งขาย และถอนออกเร็ว ๆ และกำหนดคำสั่งที่มีการแก้ไขหรือยกเลิกก่อนเวลาดังกล่าวจะถูกปฏิเสธ (Reject) โดยระบบทันที

4.กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและลูกค้าที่ใช้โปรแกรมเทรดดิ้งรูปแบบการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูง (High Frequency Trading : HFT) และใช้ SET Colocation (ติดตั้งเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเชื่อมต่อส่งคำสั่งซื้อขาย) จะถูกกำกับดูแล โดยกำหนดต้องยื่นคำขอและไฟลิ่งข้อมูล (Register) ที่เกี่ยวข้องให้สามารถเห็นข้อมูลผู้ลงทุนในระดับ Sub-Account ของ Omnibus Account ทั้งนี้จะมีข้อตกลงว่าถ้ามีพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสมจะมีการระงับการซื้อขายผ่านช่องทางนี้ก็ได้

“กลุ่มนักลงทุนที่ใช้ HFT ซึ่งอาจจะมองเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการซื้อขายไม่เหมาะสม มีการส่งคำสั่งซื้อขายเข้าเร็วออกเร็ว ดังนั้นเราจะเข้าไปดูพฤติกรรรมกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งต้องลงทะเบียนเพื่อให้รู้ตัวตนได้”

ส่วนแนวทางการกำกับเรื่องอื่น ๆ อีก 10 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การทบทวนหลักทรัพย์ที่ชอร์ตเซลได้ กรณี Non-SET 100 ต้องมีขนาดมาร์เก็ตแคปมากกว่า 7,500 ล้านบาท (จากเดิม 5,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ต้องมี Turnover เฉลี่ย 12 เดือน ที่ 2% (จากเดิมไม่กำหนด) โดยจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส 2/2567

2. การเพิ่ม Daily Short Selling Limit เนื่องจากมาตรการกำหนดปริมาณสูงสุดของการขายชอร์ตและยังไม่ได้ซื้อคืน (10% ของ Total Listed Shares ของบริษัท) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสูงสุดที่เคยเจออยู่ที่ประมาณ 3% และค่าเฉลี่ยน้อยกว่า 1% เท่านั้น ประกอบกับมาตรการอื่น ๆ ที่จะเริ่มใช้บังคับ จะสามารถควบคุมธุรกรรมขายชอร์ตได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ในขณะนี้เห็นว่าอาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการ Daily Short Selling Limit

3. จัดให้มี Central Platform ในการ Check หลักทรัพย์ก่อนขาย เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและตลาดหลักทรัพย์ ในการตรวจสอบ Availability ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนก่อนขาย ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการขายหุ้นโดยไม่มีหลักทรัพย์ในครองครอง (Naked Short Selling) ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนหารือรายละเอียดเพิ่มเติมกับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกในการส่งข้อมูลของทุกบริษัท

4.การเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้น หรือ Dynamic Price Band โดยกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของราคา (ที่แคบกว่า Ceiling & Floor) เอาไว้ เพื่อไม่ให้ราคาผันผวนเร็วเกินไป

5.การเพิ่ม Auto halt รายหุ้น กรณีมีจำนวนหุ้นรวมในคำสั่งมากกว่าจำนวนที่กำหนด เพื่อป้องกันการจับคู่ของคำสั่งซื้อขายที่อาจผิดปกติ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงไตรมาส 4/2567 ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในทางปฏิบัติคือ เวลา Halt คำสั่งที่อยู่ในระบบจะให้อยู่ในระบบต่อไปหรือจะยกเลิก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำลังพูดคุยกับสมาชิกเพื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย

6.จัดให้มี Central Order Screening เพื่อเป็นระบบกลางในการคัดกรองคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม เพื่อบริหารความเสี่ยงในการส่งคำสั่งซื้อขาย สำหรับการซื้อขายชอร์ตและการใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง เบื้องต้นจะต้องมีการพูดคุยในรายละเอียดบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและการพัฒนาระบบ จึงคาดว่าจะใช้เวลาอยู่พอสมควร

7.การเปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้แก่บริษัทหลักทรัพย์สมาชิกรายอื่น ซึ่งระหว่างนี้จะมีการแก้เกณฑ์ให้ บล. ดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน และเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ส่งหนังสือเวียนถึงบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและไม่ใช่สมาชิกทุกบริษัท เรื่อง “การเพิ่มตัวอย่างพฤติกรรมลักษณะการส่งคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่ไม่เหมาะสม พร้อมตัวอย่างและพฤติกรรม”

8.มาตรการรายงาน Outstanding Short Position ซึ่งได้เปิดเผยข้อมูลไปแล้วเป็นรายหลักทรัพย์และรายวันให้บุคคลทั่วไปทราบ

9.เพิ่มบทระวางโทษบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกให้สูงขึ้น 3 เท่า โดยเพิ่มโทษในกรณีที่ บล.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขายชอร์ตและโปรแกรมเทรดดิ้งให้สูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 3 เท่า

และ 10.การเปิดเผยข้อมูลการถือครอง NVDR สูงสุด 10 รายแรก และผู้ถือตั้งแต่ 0.5% ให้บุคคลทั่วไปทราบ ลักษณะเดียวกับการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน