เสียเบี้ยน้อย เสียยาก เสียค่าซ่อมมาก เสียง่าย

ประกันรถ
บทความโดย “นายธนภัทร จินดาหลวง”
ที่ปรึกษาการเงิน AFPT สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

 

วันที่ 24 มิถุนายน 2567 รถยนต์คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญของทุกครอบครัว บางครอบครัวมีมากกว่าหนึ่งคัน บนท้องถนนจึงคลาคล่ำไปด้วยยานยนต์ ตั้งแต่รถใหม่ป้ายแดงที่เพิ่งออกจากโชว์รูม ไปจนถึงรถที่ถูกใช้งานมานานหลายปี

สำหรับรถใหม่ป้ายแดง ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ มักจะมีโปรโมชั่น แถมฟรีประกันชั้น 1 จึงไม่น่ากังวลนัก เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ จะครอบคลุมภัยมากกว่า แต่รถยนต์ที่ใช้มานานกว่านั้น เจ้าของรถส่วนใหญ่เริ่มลังเลในการต่อประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ในปีถัดไป อาจจะเป็นเพราะว่าต่อประกันทุกปีไม่เคยชนไม่เคยเคลม หรือคิดว่าตนเองน่าจะขับรถระมัดระวังอยู่แล้ว หรือต้องการประหยัดเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นแทน

อย่างไรก็ตาม การประกันภัยคือการวางแผนทางการเงินขั้นพื้นฐานที่ควรจะให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น รวมถึงการประกันรถยนต์

ปัจจุบันหลายคนทำแค่ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ โดยเหตุผลที่ไม่ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ คือมี พ..บ.อยู่แล้ว จึงไม่อยากเสียเงินทำประกันอีก  

Advertisment

ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับจะคุ้มครองในส่วนของชีวิตและค่ารักษาพยาบาล ขณะที่ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจจะรวมถึงค่าซ่อมแซมรถที่เกิดความเสียหายและอื่น ซึ่งค่าซ่อมรถบางคันมีตั้งแต่หลักหมื่นบาท หลักแสน ถึงหลักล้านบาทก็มี ดังที่ได้เคยเห็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ กรณีชนแล้วหนี (เพราะรู้ตัวว่าเป็นฝ่ายผิด และรู้ตัวว่าไม่มีประกัน และคงจะไม่สามารถรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นได้)

หรือชนแล้วไม่หนี แต่อ้างว่าไม่มีประกัน ไม่สามารถรับผิดชอบค่าเสียหายได้ ยอมถูกดำเนินคดี เพราะไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายได้ ยิ่งเมื่เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งค่าซ่อมค่อนข้างสูง ดังนั้น หากไม่มีประกันภาคสมัครใจ ทุกครั้งที่ขับรถบนท้องถนน นั่นหมายถึงกำลังเผชิญภัยกับความเสี่ยงตลอดเวลา ดังนั้น ควรโอนความเสี่ยงเหล่านี้ไปให้บริษัทประกันภัยเพื่อรับความเสี่ยงแทน

สำหรับเจ้าของรถยนต์ที่กังวลใจเรื่องเบี้ยประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ที่ค่อนข้างสูง สามารถพิจารณาประกันภัยรถยนต์ชั้น 2, ชั้น 3  หรือชั้น 5 (2+, 3+) เป็นทางเลือกเพิ่มเติมได้ เพราะเบี้ยประกันที่ถูกลง แต่ความคุ้มครองหลายอย่างก็ลดลงเช่นกัน หรือหากคิดว่าไม่ได้ขับรถมากนัก (เน้นจอดมากกว่า) ก็เลือกแบบประกันที่เลือกเวลาขับขี่ คือจ่ายเบี้ยประกันเฉพาะเวลาที่ขับ หากขับน้อยก็จ่ายเบี้ยประกันน้อย

การวางแผนประกันภัยรถยนต์ที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นการวางแผนทางการเงินอย่างหนึ่ง หากไม่มีประกันภัยภาคสมัครใจ เพราะกังวลเรื่องเบี้ยประกันและไม่อยากเสียเบี้ยประกันสูง อย่างน้อยที่สุดก็ควรเลือกทำประกันภัยชั้น 3 ไว้ก่อน เพราะราคาไม่สูงมากนัก เช่น เบี้ยประกันภัยชั้น 3 รถยนต์นั่งเก๋ง เริ่มต้นปีละ 1,900 บาท รถยนต์กระบะเริ่มต้นปีละ 2,700 บาท โดยความคุ้มครองความเสียหายรถคู่กรณีสูงถึง 800,000 บาทเป็นต้น

Advertisment

ตัวอย่าง ขับรถไปชนรถอีกคัน ปรากฏว่ามีค่าซ่อมประมาณ 300,000 บาท หรือขับรถไปชนกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยค่าซ่อมตัวรถและแบตเตอรี่ประมาณ 700,000 บาท หากทำประกันภาคสมัครใจ (ประกันภัยชั้น 3) ก็จะครอบคลุมค่าใช้จ่าย ตรงกันข้าม หากมีเพียงประกันรถยนต์ภาคบังคับก็ต้องหาเงินมาจ่ายค่าซ่อมรถ

ถึงแม้หลายคนอาจลังเลที่จะทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เพราะมองว่าเบี้ยประกันสูง และต้องการเก็บเงินเพื่อจับจ่ายใช้สอยอื่น ๆ หากเป็นเช่นนี้ผู้เขียนก็คงได้แต่ภาวนาว่าเจ้าของรถยนต์แต่ละคันที่ไม่มีประกันอย่าได้โชคร้ายเผลอขับไปชนคันอื่น มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเสียน้อย เสียยาก เสียมาก เสียง่าย