ดร.ณภัทร ชี้เอกชนไทย ยังตื่นตัวนำ AI มาใช้น้อย กระจุกตัวแค่บริษัทใหญ่

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ The Power of AI

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ซีอีโอ Vialink ชี้เอกชนไทย ยังตื่นตัวนำ AI มาใช้น้อย กระจุกตัวแค่บริษัทใหญ่

วันที่ 21 มิถุนายน 2567 ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Vialink กล่าวในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ “THE POWER OF AI เกมใหม่ โลกเปลี่ยน“ ในหัวข้อเสวนาพิเศษ “THE POWER OF AI” ว่า ปัจจุบันในมุมผู้พัฒนาเอไอไม่ว่าจะเป็นฝั่งจีนหรือตะวันตกมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมาก ซึ่งมีความห่างมากระหว่าง Big Player และ Small Player ส่วนในประเทศไทยยังเป็นฝั่งผู้ใช้งานเอไอเป็นหลัก โดยปัจจุบันภาคเอกชนของไทยต้องถือว่ายังมีความห่างระหว่างบริษัทที่พร้อมมาก ๆ กับบริษัทที่ไม่พร้อมเลยอยู่หลายระดับมาก

บริษัทส่วนใหญ่แทบยังไม่ได้เริ่มนำเอไอมาใช้งาน อาจจะเริ่มในลักษณะส่วนตัวคือผู้บริหาร เถ้าแก่ หรือพนักงานที่ถึกมากและบริษัทต้องการตัวช่วย ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าทุกคนเข้าใจดีเพราะเป็นปัญหา และพอเห็นเครื่องมือทุ่นแรง ก็เริ่มนำเอไอมาใช้ก่อน

แต่ต้องบอกการนำเอไอมาใช้งานไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับประเทศไทย ตั้งแต่รอบที่แล้วที่เป็นเรื่อง Big Data และ Machine Learning ก็ถือว่ายังใช้งานเพียงหยิบมือเท่านั้น หรืออาจจะอยู่แค่ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนระดับท็อป ๆ อาทิ ธนาคาร, เทเลคอม แทบจะทุกที่มี Machine Learning Model เต็มไปหมดที่ให้บริการเป็นประจำวัน

และถัดมาในปี 2567 เป็นเรื่อง Generative AI ซึ่งยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะยังมีโมเดลอีกเต็มไปหมด ตอนนี้สังเกตว่าการหยิบเอไอไปใช้ยังมักจะกระจุกอยู่ในบริษัทที่ผู้ก่อตั้งหรือเถ้าแก่อายุน้อยเป็นส่วนใหญ่ และเป็นบริษัทที่เห็นชัดว่าควรจะหยิบโมเดลไหนไปเพิ่มผลิตภาพได้อย่างไรบ้าง คือส่วนใหญ่แล้วผู้ประกอบการในประเทศไทยจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักคือ

Advertisment

1.การนำเอไอเพื่อทดแทนแรงงาน ซึ่งในฐานะผู้ถือหุ้น บางทีมีความสมเหตุสมผลในเชิงกำไร แต่ไม่สมเหตุสมผลในเชิงจิตใจ ที่ทำให้คนลำบาก ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นทางเลือกแรก เพราะปัญหาน้อยกว่าและถูกกว่า เพราะสุดท้ายอาจจะกลับมาจ้างคนใหม่ได้ เพราะเอไอบางทีก็นำมาทดแทนได้ไม่สำเร็จ

2.การนำเอไอมาเสริมกำลังให้ธุรกิจดีขึ้น และทำให้สิ่งที่ทำไม่ได้ในอดีตตอนนี้เริ่มทำได้ และพอทำได้แล้วก็ขยายกำไร และจ้างคนเพิ่ม

แต่สิ่งที่เจอมากสุดนั่นคือทางเลือกสุดท้าย 3.ไม่นำเอไอมาใช้ในธุรกิจเลย ซึ่งบางครั้งไม่ทำอะไรเลยก็ถือว่าดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอไอรอบนี้ก็มีความเกินจริง (Hype) ไปมาก ดูจากราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเอไอพุ่งกระฉูด มีอัตราส่วนราคาต่อกำไร (PE) อาจจะใกล้ 100 เท่า

แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอไอรอบนี้ก็มีประโยชน์ด้วย ในฐานะนักพัฒนาเห็นว่าของดีจริงและดีกว่าเดิม จับต้องง่ายกว่าเดิมด้วย สามารถแชตได้ และในอนาคตก็คงมาเป็นหุ่นยนต์ปฏิสัมพันธ์ได้ และถ้าถึงตอนนั้นแล้วภาคธุรกิจยังไม่ประยุกต์ใช้ก็มีความเสี่ยงสูงมาก

Advertisment