“ซีไอเอ็มบีไทย” เปิดศึกแย่งเงินฝากออมทรัพย์ครึ่งปีหลัง

CIMBTH

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดครึ่งปีหลังแบงก์แข่งดูดเงินฝาก-ใช้ดอกเบี้ยสูงจูงใจ กางแผนสู้ศึก-เน้น “เงินฝากออมทรัพย์” ดอกเบี้ยสูง ตั้งเป้าปีนี้พอร์ตเงินฝากออมทรัพย์โต 34% ยอดคงค้างสิ้นปีแตะ 1.01 แสนล้าน ขณะที่ภาพรวมเงินฝากทั้งระบบคาดเติบโต 5-10%

นายติยะชัย ชอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Wealth & Preferred Segment ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2567 แนวโน้มการแข่งขันด้านเงินฝากจะยังคงเห็นการแข่งขันด้านราคาอยู่ โดยคาดว่าอัตราการเติบโตเงินฝากทั้งระบบปีนี้จะอยู่ที่ 5-10% โดยจากที่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลายคนคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เห็นการโยกเงินไปฝากประจำมากขึ้น เพื่อล็อกอัตราดอกเบี้ย

ติยะชัย ชอง
ติยะชัย ชอง

ทั้งนี้ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งเป้าเงินฝากรวม (ไม่รวมนิติบุคคล) ในปีนี้เติบโตที่ 14% ตั้งเป้ายอดคงค้างเงินฝากสิ้นปีที่ 1.87 แสนล้านบาท

ล่าสุดถึงเดือน พ.ค.อยู่ที่ 1.69 แสนล้านบาท โดยเงินฝากออมทรัพย์ตั้งเป้าโต 34% ยอดคงค้าง 1.01 แสนล้านบาท จากเดือน พ.ค.อยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 20% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ที่มียอดคงค้างที่ 7.4 หมื่นล้านบาท

“เราจะเน้นที่เงินฝากออมทรัพย์ โดยเสนออัตราดอกเบี้ยสูงจูงใจ และความยืดหยุ่นตามความต้องการของลูกค้า เช่น เงินฝากออมทรัพย์ชิลดี ดอกเบี้ย 2.88% ต่อปี สำหรับวงเงินตั้งแต่ 5 หมื่นบาท-1 แสนบาท หรือเงินฝากออมทรัพย์ สปีดดี พลัส ดอกเบี้ย 1.88% ต่อปี หรือลูกค้ามั่งคั่ง (Preferred) จะได้รับโบนัสเรต 4 เดือนแรก ดอกเบี้ย 2.20% ต่อปี เฉลี่ยในตลาดอยู่ที่ 1.50% ต่อปี ดังนั้น หากลูกค้าล็อกในบัญชีเงินฝากประจำจะเสียโอกาสในการรับผลตอบแทน”

Advertisment

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) หรือลูกค้ากลุ่ม Preferred ซึ่งมีเงินฝากและการลงทุนตั้งแต่ 1-3 ล้านบาท เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการเงินฝากและลงทุนได้ ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตปี 2567 อยู่ที่ 12-13% คาดว่าภายในสิ้นปีจะมียอดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) อยู่ที่ 4.08 แสนล้านบาท จากเดือน พ.ค.อยู่ที่ 3.90 แสนล้านบาท คิดเป็นจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 1.2 แสนราย และตั้งเป้ารายได้ที่มีจากธุรกิจมั่งคั่งเติบโตที่ 10%

“ทั้งระบบจะโฟกัสเงินฝากประจำมากกว่า เพราะสามารถล็อกต้นทุนดอกเบี้ยและบริหารสินเชื่อได้ดีกว่า แต่ในส่วนของซีไอเอ็มบี ไทย จะแตกต่างกัน เราจะเน้นเงินฝากออมทรัพย์ที่มีความยืดหยุ่น และสามารถโยกไปลงทุนได้ แต่ยอมรับว่ายังมีคนที่ฝากเงินล้วน ๆ มีราว 15% ซึ่งจะเป็นคนสูงอายุที่กลัวความเสี่ยง และต้องการเก็บเงินไว้เฉย ๆ แต่อาจจะมีบางส่วนที่เริ่มรู้จักการซื้อประกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาพรวมต้นทุนการเงินของเรายังดีอยู่ แม้ว่าเราจะเสนอดอกเบี้ยสูง ซึ่งยอมรับว่าดอกเบี้ยสูงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ลูกค้าจะเข้ามา”

นายติยะชัยกล่าวว่า การฝากเงินไม่ใช่ฐานเดียวในการออมเงินหรือวางแผนทางการเงิน แต่ยังสามารถเชื่อมไปยังการลงทุนประเภทอื่นได้ อาทิ หุ้นกู้ หรือพันธบัตร (Bond) ที่ให้ผลตอบแทน (Yield) เฉลี่ย 3-6% ธนาคารจึงมีผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมระหว่างเงินฝากและการลงทุนเข้าด้วยกัน เช่น หากลูกค้าฝากเงินและซื้อหุ้นกู้ตลาดรองตามกำหนด จะได้รับอัตราดอกเบี้ยสูง 3.50% ต่อปี หรือกรณีซื้อประกันชีวิตรับดอกเบี้ยสูง 5.00% ต่อปี ถือว่าได้ผลตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างดี