คลังจ่อเคาะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ?

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

จุลพันธ์ รมช.คลัง แจงอยู่ระหว่างพิจารณาเคาะสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตได้ แจง “สมาร์ทโฟน-เครื่องใช้ไฟฟ้า” ทำไมซื้อไม่ได้ ระบุยังมีเวลาส่งกฤษฎีกาตีความใช้เงิน ธ.ก.ส. พร้อมยันสภาพคล่องไม่น่าห่วง

วันที่ 19 มิถุนายน 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมว่าสินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ จะสามารถเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตได้หรือไม่ โดยยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะต้องมาพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยข้อดีคือ สินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์มีกลไกในการการันตีชัดเจน ว่าจะมีการส่งสินค้าให้กับผู้ซื้ออย่างแน่นอน ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ คงต้องหารือกันเพิ่มเติม

“กลุ่มผู้ค้าออนไลน์มีความต้องการข่าวเข้าโครงการ ซึ่งเขายืนยันว่าสามารถควบคุมโลเกชั่นได้ ซึ่งทางเราเห็นว่ามันมีข้อดีและข้อเสียทั้งคู่ ข้อดีคือ เขามีกลไกการันตีว่ามีการส่งสินค้า สินค้าถึงมือผู้ซื้อแน่ ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่นาทีนี้ยังมีเปลี่ยนแปลง คือดิจิทัลวอลเลตยังไม่สามารถซื้อสินค้าออนไลน์ได้” นายจุลพันธ์กล่าว

ส่วนเรื่องการกำหนดกลุ่มสินค้าที่ไม่ร่วมรายการ (Negative List) ในการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลต หลังนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปทบทวนรายละเอียดการใช้ซื้อสมาร์ทโฟน มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะเป็นห่วงเรื่องสินค้านำเข้า ทำให้การใช้จ่ายเงินรอบแรกไหลไปต่างประเทศ ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการทบทวน ต้องให้เวลาพิจารณาก่อน โดยคาดว่าภายในปลายสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ทั้งนี้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการดิจิทัลวอลเลตมี 3 มิติคือ มิติของการผลิตและการจ้างงานในประเทศชะลอตัว,  มิติของความง่ายสำหรับประชาชนในการใช้งาน ที่มองว่ายิ่งเปิดกว้างเท่าไหร่ ประชาชนก็จะยิ่งใช้งานง่ายมากขึ้นเท่านั้น และมิติของการกำกับดูแลว่าจะสามารถควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการได้จริงหรือไม่ ทั้งหมดต้องมาชั่งน้ำหนักกันใหม่ จึงสั่งให้ส่วนงานกลับไปทบทวน และกลับมาหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

Advertisment

“ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตจึงได้สั่งให้ส่วนงานกลับไปพิจารณาประเด็นเรื่อง Import Content ใหม่ โดยเฉพาะเรื่องสมาร์ทโฟน ที่บางหน่วยงานก็มองว่ามันเป็นปัจจัยที่ 5 เพราะปัจจุบันคนใช้ทำมาหากิน แต่อีกมุมก็มองว่าคนที่จะใช้เงินในโครงการดิจิทัลวอลเลตก็ต้องมีสมาร์ทโฟน ก็ต้องไปพิจารณาเรื่องนี้กันใหม่ให้รอบคอบอีกครั้ง” นายจุลพันธ์กล่าว

ส่วนเรื่องการส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความนำเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาทมาใช้ในโครงการ Digital Wallet ได้หรือไม่ ตอนนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้มีการส่งเรื่องไปสอบถาม เพราะยังไม่ถึงช่วงเวลา เนื่องจากตามขั้นตอน ธ.ก.ส.จะต้องจัดทำโครงการขึ้นมา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งยืนยันว่าทุกอย่างยังอยู่ในไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้

“เราจะเร่งทำ แต่ต้องดูเรื่องความเหมาะสม คงไม่ได้ทอดยาวไปถึงเดือน ต.ค.67 ที่งบฯปี’68 ออก และยืนยันว่าไม่ใช่การกู้ ต้องเข้าใจว่า ธ.ก.ส.เป็นหน่วยงานลูกของรัฐ คลังถือหุ้น 99% เป็นการใช้กลไกงบประมาณ ดังนั้น การขับเคลื่อนนโยบายลงไปก็เป็นภาระหน้าที่ที่ ธ.ก.ส.ต้องทำ เราต้องดำเนินการตามกรอบกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายเพื่อช่วยประชาชน เชื่อว่า ธ.ก.ส.แฮปปี้อยู่แล้ว ตอนคุยกันก็ไม่มีปัญหาอะไร ธ.ก.ส.เป็นหน่วยงานใกล้ชิดประชาชน ช่วยเหลือเกษตรกรมาโดยตลอด เป็นเรื่องปกติ” รมช.คลังกล่าว

ส่วนเรื่องสภาพคล่องไม่น่าเป็นห่วง มีสภาพคล่องเพียงพอ และยืนยันว่าจะไม่ทำให้ ธ.ก.ส.เกิดปัญหาเรื่องขาดสภาพคล่อง ธ.ก.ส.สามารถบริหารจัดการได้

Advertisment