ผู้ว่าการแบงก์ชาติคุยสื่อนอก ไม่เห็นด้วยปรับกรอบเงินเฟ้อ เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจ 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติให้สัมภาษณ์สื่อนอก ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของรัฐบาลที่จะให้ปรับกรอบเงินเฟ้อและลดดอกเบี้ย ชี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจ 

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับ “บลูมเบิร์ก เทเลวิชัน” (Bloomberg Television) โดยประเด็นหลัก ๆ เป็นประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะจากรัฐบาลให้ปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่ง ดร.เศรษฐพุฒิบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่เศรษฐกิจไทย

ส่วนหนึ่งในคำให้สัมภาษณ์ ผู้ว่าการแบงก์ชาติของไทยกล่าวว่า การปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออาจไม่ให้ผลลัพธ์ตามความคาดหวังแ ละอาจส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้ต้นทุนการกู้ยืม (ดอกเบี้ย) เพิ่มขึ้นอีก 

“กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันเหมาะสมกับสถานการณ์ และมันก็ทำงานได้ผลดี” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว และบอกว่าความเสี่ยงในการเพิ่มกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากช่วง 1%-3% ในปัจจุบันก็คือ “อัตราเงินเฟ้อจริงจะเริ่มสูงขึ้น” 

บลูมเบิร์กบรรยายว่า ความคิดเห็นของ ดร.เศรษฐพุฒิเน้นย้ำให้เห็นถึงความดื้อรั้น (intractability) ของธนาคารกลางขณะที่เผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลให้ลดต้นทุนการกู้ยืม ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวได้เพิ่มความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศไทย ส่งผลให้กองทุนทั่วโลกต้องถอนเงินลงทุนประมาณ 3,900 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 143,559 ล้านบาท) ออกจากหุ้นและตราสารหนี้ของไทยในปีนี้ 

Advertisment

บลูมเบิร์กบอกอีกว่า เมื่อเดือนที่แล้ว นายพิชัย ชุณวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ หลังจากที่ประเทศไทยประกาศอัตราเงินเฟ้อติดลบ 6 เดือนติดต่อกันมาจนถึงเดือนมีนาคม ในขณะที่ผู้สังเกตการณ์ตลาดเงินตลาดทุนไทยมองว่า ความเคลื่อนไหวของกระทรวงการคลังเป็นกลยุทธ์ในการผลักดันให้ธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิมองว่า การปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตามแนวทางของรัฐบาลนั้น จะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมให้แก่รัฐบาลและโดยรวมทั้งประเทศ 

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อกลับมาสู่ระดับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งเป้าไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระตุ้นให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นับเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่อัตราเฉลี่ย 1.1% ในครึ่งปีหลัง

บลูมเบิร์กบรรยายอีกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยปฏิเสธเสียงเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากรัฐบาลที่ต้องการให้ลดอัตราดอกเบี้ย โดยโต้แย้งว่า การปฏิรูปเชิงโครงสร้างคือสิ่งที่จำเป็นในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง 

Advertisment

“อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันมีความเหมาะสมในการนำเรากลับไปสู่ศักยภาพในระยะยาว … แต่หากแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากที่เราคาดการณ์ไว้ เราก็ยินดีที่จะปรับ เราไม่ได้ยึดติดกับมัน และมันไม่ใช่จุดยืนที่ดันทุรังอย่างไร้เหตุผล” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว 

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวถึงค่าเงินบาท ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ทำผลงานได้แย่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียในปีนี้ว่า ในปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยมีระดับความอดทนต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสูงกว่าเมื่อก่อน 

นอกจากนั้น ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวถึงระดับหนี้ที่สูงในระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนว่าเป็นปัญหาที่จะไม่หายไปในเร็ว ๆ นี้

“มันเหมือนกับโรคเรื้อรังมากกว่าโรคเฉียบพลัน มันมีแนวโน้มที่จะคงอยู่เป็นเวลานาน และจะแก้ไขได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าจะนำไปสู่วิกฤต” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว 

เมื่อผู้สัมภาษณ์ย้อนกลับไปถามถึงเรื่องแรงกดดันจากรัฐบาลให้ลดอัตราดอกเบี้ยและภัยคุกคามต่อความเป็นอิสระของธนาคารกลาง 

ดร.เศรษฐพุฒิตอบว่า ประเทศที่ธนาคารกลางมีอิสระจะทำงานได้ดีกว่าในแง่ของการจัดการเงินเฟ้อ รวมถึงเสถียรภาพทางการเงิน

“ต้องให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์” ผู้ว่าการแบงก์ชาติของไทยกล่าว