ทำไมแบงก์ชาติจีนหยุดซื้อทอง ?

china-golden
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : คมศร ประกอบผล ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้

ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสความพยายามในการลดการถือครองพันธบัตรสกุลดอลลาร์ (Dedollarization) ของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการถูกคว่ำบาตรทางการเงิน หรือถูกปฏิเสธการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในสกุลเงินดอลลาร์ ในกรณีที่ประเทศมีความขัดแย้งกับสหรัฐ ซึ่งทำให้ความต้องการถือครองทองคำเพื่อทดแทนพันธบัตรสหรัฐเพิ่มขึ้น

แต่แล้วขาขึ้นของราคาทองคำก็ต้องสะดุดลงตามรายงานข่าวว่า ธนาคารกลางจีนไม่ได้มีการซื้อทองคำเพิ่มเข้าไปในทุนสำรองระหว่างประเทศในเดือน พ.ค. หลังจากที่ซื้อติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องนานถึง 18 เดือน

ทำไมแบงก์ชาติจีนถึงหยุดซื้อทอง ? เหตุผลหลักนั้นคาดว่าจะเกิดจากการลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนท่ามกลางปัญหาเงินทุนไหลออกจากประเทศ การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ และการพยายามแทรกแซงค่าเงินหยวนไม่ให้อ่อนค่าเร็ว

การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณเงินทุนต่างชาติที่ไหลและออกจากประเทศ ซึ่งหากปริมาณเงินไหลเข้ามีมากกว่าไหลออก ทุนสำรองระหว่างประเทศก็จะเพิ่มขึ้น และธนาคารกลางก็จะจัดสรรทุนสำรองไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ พันธบัตรในสกุลเงินต่างประเทศ หุ้นกู้เอกชน หรือแม้กระทั่งหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศ เป็นต้น

แต่ในกรณีของจีนในช่วงปีนี้นั้น หลายปัจจัยต่างรุมเร้าและกดดันให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกสุทธิ ซึ่งส่งผลให้ทุนสำรองของจีนนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นมากต่อเนื่องเหมือนในอดีต ซึ่งปัจจัยกดดันดังกล่าวนั้น ได้แก่

Advertisment

1.สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2018 และกำลังยกระดับขึ้นหลังประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีส่งออกสำคัญของจีน เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ รวมไปถึงการขยายวงกว้างไปสู่ยุโรป ซึ่งกำลังมีการพิจารณาเพิ่มกำแพงภาษีต่อสินค้าจากจีนตามสหรัฐด้วย ซึ่งการยกระดับและขยายวงของสงครามการค้าส่งผลกดดันต่อกระแสเงินทุนในหลายด้าน เช่น ด้านการส่งออก ซึ่งจีนจะส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าได้ลดลงจากผลโดยตรงของกำแพงภาษี

ส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ก็มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย เนื่องจากการใช้จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกก็จะมีความเสี่ยงจากกำแพงภาษีเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทจีนเองเสียอีกที่จะต้องขยายการลงทุนออกไปผลิตนอกประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี ซึ่งทำให้การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) พลิกกลับเป็นการไหลออกสุทธิออกจากจีนในปี 2023 เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี

2.ดอกเบี้ยในสหรัฐสูงกว่าจีน ซึ่งส่งผลกดดันให้เงินทุนไหลออก ผ่านหลายช่องทาง เช่น ผู้ส่งออกจีน ซึ่งได้รับเงินดอลลาร์ อาจเลือกคงเงินไว้ในต่างประเทศเพื่อรับดอกเบี้ยที่สูงกว่า แทนที่จะแลกกลับเป็นเงินหยวนในทันที ในขณะที่ผู้นำเข้าที่ต้องจ่ายเงินดอลลาร์ในอนาคต ก็อาจเลือกแลกเงินเป็นดอลลาร์ล่วงหน้าในปริมาณมากขึ้น

และเนื่องด้วยความที่จีนไม่ได้ปล่อยให้ค่าเงินหยวนลอยตัวตามกลไกตลาดอย่างเต็มที่ กระแสเงินทุนไหลออกดังกล่าวจึงไม่ได้ถูกกลไกตลาดปรับให้สมดุลผ่านทางอัตราแลกเปลี่ยน ยิ่งไปกว่านั้นธนาคารกลางจีนยังต้องใช้ทุนสำรองเพื่อแทรกแซงค่าเงินหยวนไม่ให้อ่อนค่าเร็วไปเสียอีกด้วย

Advertisment

3.ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ที่นำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ ความเสี่ยงหนี้เสียในภาคธนาคาร รวมไปถึงตลาดหุ้นที่ซบเซาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้การลงทุนในตลาดทุนจีนนั้นไม่ได้เป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ และเราเห็นเงินไหลออกจากตลาดทุนจีนมาอย่างต่อเนื่อง

โดยสรุปปัญหาเงินทุนไหลออก และการลดลงของทุนสำรองจีนนั้นเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกนานหลายปีกว่าจะคลี่คลาย ดังนั้นการจะหวังให้ธนาคารจีนกว้านซื้อทองคำเป็นปริมาณมหาศาลต่อเนื่องไปในอนาคตนั้น อาจเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนคาดหวัง